กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.เตรียมยื่น AEDP ภาคประชาชนต่อกระทรวงพลังงานเพื่อประกอบแผนเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนของไทย หวังรับมือระเบียบโลกใหม่ก้าวสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนต่ำ หลังสหรัฐฯ และอียูจ่อกีดกันนำเข้าสินค้าใช้ฟอสซิลเพิ่มขึ้น
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ทางกลุ่มฯ จะเสนอแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับภาคประชาชนที่ได้จัดทำแล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงานพิจารณานำไปประกอบการจัดทำแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์พลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศที่จะเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 โดยระหว่างนี้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาที่เป็นลักษณะการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (NBT) จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม
“อียูจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2573 ทำให้ขณะนี้ได้มีมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การขยายการใช้มาตรการ EU Emission Trading Scheme สำหรับปี 2564-2573 เพื่อทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง ฯลฯ เหล่านี้ ซึ่งหากไทยไม่เตรียมพร้อมจะกระทบต่อการส่งออก” นายสุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะเน้นใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักแต่ก็ไม่สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำเป็นต้องใช้พลังงานทดแทนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐก็ต้องวางแผนให้พร้อมว่าจะลดการพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิลอย่างไร เช่น กรณีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์ม ขณะนี้ต้นทุนประมาณ 1 บาท/หน่วยแต่ไม่เสถียร หากเสถียรต้องบวกกับแบตเตอรี่ (ESS) กลายเป็น 2.50-3.00 บาท/หน่วย ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตไฟจากก๊าซฯ ที่ 2.50 บาท/หน่วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าต้นทุน ESS อีก 5 ปีจะลดลงครึ่งหนึ่ง เป็นต้น
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่กองทัพบกประกาศสนับสนุนให้เกิดขึ้น 3 หมื่นเมกะวัตต์ และในพื้นที่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีก 500 เมกะวัตต์ ในขณะนี้ภาคเอกชนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ไม่มีอยู่จริงเพราะยังไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ของประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น หากจะดำเนินการกระทรวงพลังงานควรหารือทั้ง 2 หน่วยงานว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยแผนพีดีพีฉบับปัจจุบัน คือ พีดีพี 2018 ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 กำหนดถึงสิ้นปี 2580 จะมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบประมาณ 12,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งแม้ว่าเอกชนต้องการเห็นพลังงานทดแทนเกิดขึ้นในประเทศ แต่ก็ต้องอยู่บนฐานเดียวกัน