“เอสพีซีจี” ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 5 พันล้านบาท แต่มีกำไรเพิ่มขึ้น เผยจับมือ PEA ENCOM เดินหน้าธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน ใช้งานจริงร่วมกับในโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 500 เมกะวัตต์ ใน EEC มั่นใจไตรมาส 3 นี้โซลาร์ฟาร์มเฟสแรก 300 เมกะวัตต์เริ่มทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ ส่วน M&A โรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นดีเลย์ออกไปก่อน
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารักษารายได้ในปี 2564 ราว 5 พันล้านบาท ใกล้เคียงปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ทำให้โครงการใหม่ๆ ล่าช้าออกไป เช่น โซลาร์รูฟท็อป ที่ปีนี้คาดว่ามียอดขายอยู่ที่ 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 500 ล้านบาท แต่ลดลงจากปกติที่มียอดขายราว 1.5 พันล้านบาท ส่วนกำไรปีนี้เพิ่มขึ้นจากการปรับลดค่าใช้จ่ายลง 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/2564 โครงการโซลาร์ฟาร์ม เฟสแรกราว 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์คาดว่าสิ้นปีนี้จะผลิตได้ครบ 300 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมให้ครบ 500 เมกะวัตต์ในปี 2569 ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างเอสพีซีจี กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการผลิตพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) 500 เมกะวัตต์ (MW) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) ในปี 2564-2569 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ปีนี้บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวชดเชยรายได้ที่ลดลงไปจากโซลาร์รูฟท็อป
นางวันดีกล่าวถึงความคืบหน้าการจับมือพันธมิตรเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น ราว 100 เมกะวัตต์ ว่าญี่ปุ่นได้ห้ามต่างชาติเดินทางเข้าประเทศหลังจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในญี่ปุ่น ทำให้บริษัทฯ ต้องเลื่อนการปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจากเดิมที่กำหนดไว้ในปีนี้ออกไป โดยสัดส่วนการถือหุ้นและเม็ดเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 1หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เฟสแรก 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม Ukujama ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จเชิงพาณิชยในปี 2566
ขณะที่วันนี้ (15 ก.พ.) นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และ พลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในEEC นับเป็นโครงการแรกที่นำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)มาใช้เสริมระบบลดพีกหรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยจะใช้เวลา 2 เดือนเพื่อร่วมกันศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สำหรับการใช้งานจริงในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ ซึ่งจะทำให้ได้ผลการทดสอบ ข้อมูล และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการ และสามารถนำมาปรับปรุงระบบให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีระบบ ESS อยู่จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในการศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงานครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดพลังงานหมุนเวียนและเสาะหาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ โดยบริษัทมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นเมืองพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด และพลังงานสํารอง จากระบบกักเก็บพลังงาน สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อน