ส.อ.ท.หนุน BCG โมเดลรับมือกติกาโลกเปลี่ยนเทรนด์ลดโลกร้อนมาแรง คาดภาคธุรกิจหันซบพลังงานสะอาดโดยเฉพาะโซลาร์เพิ่มขึ้นในอนาคต ป้องความเสี่ยงการส่งออกโดยเฉพาะไปอียูหลังเตรียมใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) จี้ทุกส่วนเร่งปรับแผนรับมือ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อนอย่างเข้มข้นมากขึ้นและมาตรการบางส่วนอาจกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) เช่น ล่าสุดรัฐสภายุโรปรับรองมติว่าด้วยกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ที่จะนำมาใช้ในปี 2565 เป็นต้น ดังนั้นแนวโน้มภาคส่งออกของไทยจะหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก จึงจำเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งวางแผนรับมือ โดยเห็นว่า BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพเป็นสิ่งที่ดีในการขับเคลื่อนแต่รัฐบาลควรกำหนดบทบาทให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“โลกตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) และมีการตื่นตัวต่อการลดโลกร้อนมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีแผนชัดเจนและกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ขณะที่สหภาพยุโรป หรืออียู เริ่มเข้มงวดมากขึ้น โดย CBAM เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะเก็บภาษีคอร์บอนต่อสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐานการลดคาร์บอนที่ต่ำกว่าอียู เพื่อให้เท่าเทียมกับสินค้าอียูที่มีต้นทุนสูงจากการดูแลสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ไทยต้องเตรียมตัวไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนในระยะยาว” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ พบว่าภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่ต้องการพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาดที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นเพราะแบตเตอรี่ที่จะทำให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเก็บไว้ใช้ 24 ชั่วโมง เริ่มมีทิศทางที่ราคาต่ำและบรรจุได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่คาดว่าจะมาเร็วกว่าที่คาดไว้ เป็นต้นเหล่านี้ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ Bio, Circular และ Green เป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนมาพอสมควรซึ่งภาคธุรกิจหลายแห่งมีแผนที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ แต่ที่ผ่านมานโยบายดังกล่าววางแนวทางดำเนินงานไม่ชัดเจนนัก เช่น Bio Economy ที่เกี่ยวโยงทั้งเชื้อเพลิงพลังงาน พืชผลทางการเกษตร ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
“BCG Model ยังมุ่งเน้นไปที่พลังงานจำเป็นต้องมองให้หลากหลายมิติมากขึ้นและนำไปสู่แผนที่ชัดเจน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา ไบโอเคมี พลาสติกชีวภาพ ซึ่งเห็นว่าแผนปิโตรเคมีเฟส 4 ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำจะมีการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เหนืออื่นใดก็ต้องมองในเรื่องการมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับแผนเตรียมตัวรองรับ” นายเกรียงไกรกล่าว