xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยตื่นตัวยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่จะแจ้งเกิดอีกนานมั้ย! ปี 2035 ช้าเกินไปหรือเปล่า !! / ดร.สมชาย สาโรวาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ดร.สมชาย สาโรวาท
เป็นคำถามในใจส่วนใหญ่ของผู้ที่สนใจในเรื่องของการยานยนต์ และพลังงาน เพราะได้เห็นข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้วย้อนกลับมามองประเทศไทยว่ามีการขับเคลื่อนกันอย่างไร

ผมได้รับเชิญจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทยซึ่งได้ผลักดันในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้ามาเกือบ 10 ปีแล้ว ให้ไปเป็นวิทยากรและวิพากษ์ ในการประชุมทางวิชาการที่เป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 

สำหรับผมจะเน้นการวิเคราะห์วิพากษ์ในหัวข้อของยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืนของประเทศไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำบทความมานำเสนอ 3 ท่าน และผมได้ศึกษา บทความของผู้นำเสนอมาแล้ว ได้พบว่าเป็นพื้นฐานทางวิชาการของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำไปต่อยอดได้ครับ

ในขณะที่ทั่วโลกมีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก โดยค่ายรถยนต์ต่างๆ รวมทั้งค่ายใหม่ๆ ที่เข้ามาร่วมแบ่งเค็กด้วย ได้เสนอยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ ดีไซน์ ที่ล้ำยุค สวยงามโฉบเฉี่ยวออกมากันไม่ขาดสาย จนทำให้คนไทยเรา มองด้วยความหวังในความก้าวหน้า ความสะดวกสบาย ในการเดินทาง ด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้น้ำมันและลดมลภาวะเป็นพิษในประเทศ

แต่ก็มีคำถามในใจที่เป็นห่วงว่า ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยจะแจ้งเกิดได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ เมื่อใด .....เราจะพัฒนาEV ไปได้ทันต่อโลกเขาหรือไม่ ?

จากการที่ผมได้มีส่วนร่วมในคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีรายงานสรุปเรื่องนี้มีข้อเสนอที่สำคัญหลายประการ

โดยเฉพาะยิ่งต้องการให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดย กมธ.พลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้รัฐบาลกำหนดวิสัยทัศน์ยานยนต์ใหม่ที่จะจดทะเบียนใช้ภายในประเทศ ต้องเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) 100% ภายในปี ค.ศ. 2035 เพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษ ลดโลกร้อน แผนนี้น่าจะพอสอดคล้องกับพัฒนาการของยานยนต์ไฟฟ้าในโลกครับ

สิ่งหนึ่งที่คิดกันว่ายานยนต์ไฟฟ้าไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่เป็นเสาหลักในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งรัฐบาลก็คงจะลำบากใจเหมือนกัน ในช่วงที่จะต้องผลักดันหรือเปลี่ยนผ่านไปจากอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลนั้น นอกจะเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปรับตัวให้ทันจำนวนมากแล้ว รัฐจะต้องขาดรายได้เป็นไปจำนวนมากจากอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกยานยนต์พลังงานเชื้อเพลิง และภาษีน้ำมันครับ

เครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทยได้มีการนำเสนอทางภาครัฐไปแล้วว่าจะต้องมีเส้นทาง( Road Maps )และการแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) ของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายได้ทราบและเตรียมตัวกันครับ

อย่างไรก็ตามคงไม่ต้องเป็นห่วงกันมากนัก หรือรอกันนานมากหรอกครับ เพราะว่า “อะไรจะเกิด มันต้องเกิด”

ผมคิดว่าด้วยการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่ทันสมัย และการแข่งขันทางธุรกิจเอกชน การตลาด ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคคงจะเป็นแรงขับเคลื่อนและกดดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดเร็วขึ้นในประเทศไทยครับ

..... บางทีเป้าหมายปี 2035 อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำ !

บทความโดย ดร.สมชาย สาโรวาท
ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น