“ศักดิ์สยาม” ยอมให้รถไฟบางขบวนวิ่งเข้าหัวลำโพงบรรเทาผลกระทบ จี้ รฟท.ทำแผนพ.ย. 64 ต้องหมดปัญหาจุดตัด เตรียมชงคนร.ทบทวนมติขอเปิด PPP เดินรถ ด้านทอท.เล่นบทพี่เลี้ยง แนะปั้นรายได้เชิงพาณิชย์บางซื่อกว่า 200 ล้าน/ปี ประมูลมิ.ย. 64
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้เป็นไปตามแผนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปลายปี 2564 และการเปลี่ยนผ่านจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สู่สถานีกลางบางซื่อ ว่า จากที่ นโยบายหยุดใช้สถานีหัวลำโพง 100% เดือน พ.ย. 64 หลังเปิดสายสีแดง ซึ่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วิเคราะห์รายละเอียดผลกระทบอย่างละเอียด โดยเฉพาะความจำเป็นของรถบางขบวนที่จะกระทบต่อผู้โดยสาร เช่น นักเรียน คนทำงาน ดังนั้น หากจำเป็นต้องเดินรถเข้ามาที่หัวลำโพง จะต้องมีวิธีบริหารจัดการ ส่วนขบวนรถอื่นๆ ที่ทำได้จะต้องมีฟีดเดอร์ที่เหมาะสม ให้บูรณาการกับ ขสมก. หรือขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อดำเนินการชั่วคราวก่อนที่จะถึงปี 66 รถไฟอย่าตีกรอบตัวเอง ให้ไปทำการบ้านใหม่ อะไรที่ทำได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนถึงปี 66 ก็ทำ จากวันนี้ยังมีเวลากว่าจะถึงเดือน พ.ย. 64 ประเด็นคือต้องดูให้ละเอียดว่าการเดินทางแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร มีการเดินทางไปไหนกัน จำนวนเท่าไร เพื่อจัดฟีดเดอร์ทดแทนในขบวนรถไฟที่จะไม่วิ่งเข้ามา ไม่ได้จัดฟีดเดอร์ทั้งวัน
“ผมยอมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกประชาชนตำหนิว่าไปทำให้ชีวิตลดความสะดวกสบายลง แต่ผมต้องการดูภาพรวมของการจราจรใน กทม. เมื่อไม่มีขบวนรถไฟวิ่งตัด หรือมีน้อยที่สุด จะมีผลดีต่อการแก้ปัญหาจราจรได้แค่ไหน รฟท.ต้องวิเคราะห์ให้ออกขบวนที่จำเป็นจริงๆ เหลือกี่ขบวน เวลาใด ขบวนใดที่ตัดได้ ก็ทำฟีดเดอร์ โดยต้องดูจำนวนคนและเวลาเดินรถเพื่อจัดฟีดเดอร์รับได้เหมาะสม ทำวันนี้เพื่อส่วนรวม เพราะอย่างไรสถานีหัวลำโพงต้องหยุดบริการอยู่ดี” นายศักดิ์สยามกล่าว
ส่วนอัตราค่าโดยสารสายสีแดงที่มีการเสนอ 14-42 บาทนั้น ให้ สนข.กับการรถไฟฯ ไปพิจารณาร่วมกันในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและรายได้ของการรถไฟฯ
สำหรับการให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) เดินรถตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น รฟท.ได้ปรับแผนตามนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เดินรถสายสีแดง จากที่ให้รฟฟท.เดินรถ 5 ปี เป็น 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PPP โดยจะใช้รูปแบบจ้างวิ่ง หรือ Gross Cost จะนำเสนอ โดยจะทำรายงานนำเสนอ คนร. พร้อมกับการเสนอขอเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถสายสีแดงเป็น PPP ด้วย
ทั้งนี้ รฟท.รายงานว่า ขบวนรถไฟมีทั้งสิ้น 120 ขบวน/วัน (รถเชิงพาณิชย์ 66 ขบวน/วัน รถชานเมือง รถธรรมดา 54 ขบวน/วัน) มีจุดตัดรวมทั้งสิ้น 29 แห่ง แบ่งเป็น สายเหนือ และสายอีสาน 66 ขบวน/วัน (เชิงพาณิชย์ 42 ขบวน รถชานเมือง รถธรรมดา 24 ขบวน) มีจุดตัด 15 แห่ง สายใต้ 28 ขบวน/วัน (เชิงพาณิชย์ 22 ขบวน รถชานเมือง รถธรรมดา 6 ขบวน) มีจุดตัด 3 แห่ง สายตะวันออก 26 ขบวน (เชิงพาณิชย์ 2 ขบวน รถชานเมือง รถธรรมดา 24 ขบวน) ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง มีจุดตัด 9 แห่ง
รฟท.ทำแผนเสนอรูปแบบลดบทบาทสถานีหัวลำโพงจากรถ 120 ขบวน โดยมีรถบางขบวนที่มีความจำเป็นในการเดินทางเช้าและเย็น คือ 1. อนุญาตให้เข้าสถานีหัวลำโพง 10% หรือ 12 ขบวน (ไป/กลับ) สายเหนือ, อีสาน, ตะวันออก จะยังมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 16,679 คน/วัน 2. ให้วิ่งเข้าได้ 19% หรือ 16 ขบวน โดยเพิ่มรถสายใต้บางขบวน จะยังมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 14,300 คน/วัน 3. ให้วิ่งเข้าหัวลำโพง 35% หรือ 42 ขบวน โดยเพิ่มให้สายตะวันออกทุกขบวนวิ่งเข้ามาที่หัวลำโพงได้ จะยังมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ 5,820 คน/วัน
ทั้งนี้ เนื่องจากมีจุดจอดรถที่ประชาชนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ยมราช รพ.รามา สถานีสามเสน เป็นต้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นใน
นอกจากนี้ รฟท.ได้กำหนดการทดลองเดินรถเสมือนจริง (Trail Run) ในวันที่ 26 มี.ค. 64 เป็นวันปฐมฤกษ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ จะอนุญาตให้ประชาชนได้ร่วมทดลองใช้บริการเป็นบางสถานี ส่วนการเปิดทดลองเดินรถที่จะให้ประชาชนเข้าร่วมได้ (Soft Opening) จะเป็นวันที่ 28 ก.ค. 64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน พ.ย. 64
ทอท.เสนอแผนเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีบางซื่อ มั่นใจไม่ขาดทุน
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อ ว่า รฟท.ควรมุ่งหารายได้เชิงพาณิชย์ ได้แก่ ค่าเช่าร้านค้า ร้านอาหาร โฆษณา บริหารที่จอดรถ เพื่อนำเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าซ่อมบำรุงสถานที่
จากพื้นที่ Passenger Accessible area ที่มีทั้งหมด 129,400 ตร.ม. มีการปรับจากแผนเดิมที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ 10% เป็น 33.6% โดยผู้โดยสารยังได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ซึ่งจากการวิเคราะห์โครงการบริหารจัดการกิจการเชิงพาณิชย์ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ไม่เข้าเกณฑ์กิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น การให้เอกชนร่วมลงทุนพื้นที่สถานีรถไฟไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปกติ
จากการคาดการณ์รายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์เฉลี่ย 10 ปีแรกประมาณ 200 ล้านบาท/ปี โดยปีแรก 75 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 300 ล้านบาทในปี 2573 ส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณาเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท โดยปีแรกเติบโตจาก 140 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาทปีท้ายๆ
ทั้งนี้ รายได้จะนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายในตัวสถานี ที่คาดว่ามีประมาณ 40 ล้านต่อเดือน หรือ 200-300 ล้านบาทต่อปี โดยปีต้นๆ รายได้จะพอเลี้ยงรายจ่าย และเริ่มมีกำไรในปีท้ายๆ 200-300 ล้านบาทต่อปี ขึ้นกับปริมาณผู้โดยสารที่จะมาจากสายสีแดง และรถไฟทางไกล โดยคาดว่าจะเปิดประมูล PPP พัฒนาเชิงพาณิชย์ต้นเดือน มิ.ย. 64 และคัดเลือก 3 เดือน ได้ตัวเอกชนต้นเดือน ก.ย. 64