“ศักดิ์สยาม” เคาะปิด “หัวลำโพง” หลังเปิดสายสีแดงเดือน พ.ย. 64 ชี้จะไม่มีรถวิ่งเข้าเมืองเพื่อแก้ปัญหาจราจร สั่ง รฟท.ทำแผนเดินรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสีแดงเข้า “บางซื่อ” และค่าโดยสาร ส่วน PPP ให้เอกชน “เดินรถ-บริหารสถานี” เบ็ดเสร็จ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้นโยบายในการดำเนินงานแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 2564 จะปิดสถานีหัวลำโพงทันที ซึ่งจะทำให้ไม่มีรถไฟวิ่งเข้าเมืองสามารถแก้ปัญหาจราจรภายในเมืองได้ตามเป้าหมาย โดยสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีกลางในการให้บริการระบบรางของ รฟท. โดยให้ รฟท.เร่งทำแผนบูรณาการบริหารการเดินรถไฟทางไกล เช่น รถไฟสายใต้ จะวิ่งเข้ามาถึงสถานีบางบำหรุ จากนั้นให้ผู้โดยสารต่อรถไฟสายสีแดงเข้ามาที่สถานีบางซื่อ สายเหนือสายตะวันออกเฉียงเหนือจะบริหารรูปแบบการเดินรถเหมือนกันอาจจะหยุดที่เชียงราก โดยรถไฟที่สามารถวิ่งบนโครงสร้างสีแดงซึ่งเป็นทางรถไฟยกระดับได้จะสามารถเข้าสถานีบางซื่อได้ เพราะจะไม่ให้วิ่งทางรถไฟด้านล่างอีกแล้ว ส่วนขบวนใดที่ยังวิ่งเข้ามาไม่ได้ก็ให้หยุดที่สถานีรอบนอกก่อน และให้ผู้โดยสารต่อสายสีแดงเข้ามา
นอกจากนี้ รฟท.จะต้องจัดทำระบบตั๋วโดยสาร และกำหนดอัตราค่าโดยสารเพื่อให้ผู้โดยสารใช้โดยสารได้อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่ยุ่งยากตั้งแต่ต้นทางมา และไม่มีค่าแรกเข้ากรณีที่ต้องเดินทางจากรถไฟทางไกลเข้าสู่ระบบรถไฟสายสีแดง
“นโยบายคือ เมื่อเปิดเดินรถสายสีแดงจะให้ปิดสถานีหัวลำโพงไปเลย จะไม่มีรถไฟวิ่งเข้าไปหัวลำโพงแล้ว ซึ่งรวมถึงการขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น รถไฟจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทราบว่าสถานีสุดท้ายของแต่ละเส้นทางที่วิ่งเข้ามาจะอยู่ที่ไหน เพื่อให้จัดการเป็นจุดรับสินค้าได้ เรื่องนี้จะลดปัญหารถบรรทุกวิ่งเข้ามาเขตกรุงเทพฯ ได้”
เปิด PPP สีแดงเหมา “เดินรถ-สร้างส่วนต่อขยาย-บริหารสถานี”
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการเดินรถสายสีแดงนั้นจะมีการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งคาดว่ากว่าจะได้ตัวเอกชนจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ดังนั้น ในช่วงแรกจะให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) บริหารเดินรถสายสีแดงไปก่อน เบื้องต้น 11 เดือน ในขณะเดียวกัน ได้ให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดคมนาคมและกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำหนดตัวชี้วัด (KPI) เช่น ตรงเวลา คุมต้นทุน การซ่อมบำรุง หากแอร์พอร์ตลิงก์ทำได้ตาม KPI ในการเปิด PPP จะกำหนดใน RFP ให้เอกชนที่เข้ามาบริหารสีแดงต้องรับพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ไปด้วย
“แอร์พอร์ตลิงก์ต้องพิสูจน์ว่าทำได้ตาม KPI ก็จะใส่ในเงื่อนไข PPP ให้รับพนักงานไปด้วย แต่หากทำไม่ได้ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ทางสหภาพแอร์พอร์ตลิงก์ได้มาหารือแล้ว ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ดีขึ้น รถวิ่งครบ 9 ขบวน และตรงต่อเวลา แต่สายสีแดงมีรถ 25 ขบวน ก็ต้องมีการวัดประสิทธิภาพ”
สำหรับการเปิดร่วมทุน PPP สายสีแดงนั้น นอกจากบริหารการเดินรถแล้ว เอกชนจะต้องลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางรวมถึงบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อและสถานีรายทางทั้งหมด ซึ่งรฟท.รายงานว่า ในช่วง 4 ปีแรก (64-67) มีค่าบริหารจัดการ (Operating Cost) สถานีกลางบางซื่อ รวม 1,400 ล้านบาท เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าทำความสะอาด ค่ารักษาความปลอดภัย ขณะที่จะมีรายได้เพียง 257 ล้านบาทเท่านั้น
“รฟท.ต้องเปลี่ยนความคิด ต้องจัดสัดส่วนการใช้พื้นที่ใหม่ ซึ่งผมให้ปลัดคมนาคมช่วยตรวจสอบตัวเลขค่าใช้จ่ายว่ามีความจำเป็นจริงหรือไม่ และดึง รฟม. ทอท.ตั้งเป็นคณะทำงาน ช่วยดูเรื่องพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เพิ่ม และเชื่อว่าหากเอกชนทำจะไม่ขาดทุน”