xs
xsm
sm
md
lg

แบกรับไม่ไหว! รถไฟฟ้าบีทีเอสราคาใหม่ คูคต-เคหะจ่าย 104 บาท เริ่ม 16 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเตรียมใจ กทม.ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย นั่งต่อเนื่องไปเคหะจากเดิมสูงสุด 59 บาท ขึ้นเป็น 74 บาท นั่งยาวจากคูคตถึงอ่อนนุช จากเดิม 44 บาท ขึ้นเป็น 74 บาท และนั่งยาวจากคูคตถึงเคหะ จากเดิม 59 บาท เป็น 104 บาท เริ่ม 16 กุมภาพันธ์นี้ แจงยังแก้ไขสัญญาสัมปทานไม่ได้ จากเดิมกะให้สูงสุดไม่เกิน 65 บาท

วันนี้ (16 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่ จากเดิมให้ขึ้นฟรีส่วนต่อขยายช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต และช่วงสำโรง-เคหะ ทำให้ปัจจุบันมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 59 บาท จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา กทม.เปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยในช่วงทดลองให้บริการ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, อ่อนนุช-แบริ่ง, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าสำหรับการใช้บริการโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม.จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท โดยไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนระหว่างส่วนหลักและต่อขยาย ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท และเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564-2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม.ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม.ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ กทม.เห็นว่าแนวทางการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดในการที่จะมาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม.สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

หากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม.ได้ ซึ่งประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาทและภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนงานในระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่ายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท และภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564-2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา กทม.ยืนยันว่าภายใต้อำนาจของ กทม.จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม.จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด

สำหรับการคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ประกอบด้วย

- ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 44 บาท ยังคงเดิม

- ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท

- ช่วงบางจาก-แบริ่ง และช่วงสำโรง-เคหะ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท

- กรณีที่เดินทางจากช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ต่อเนื่องไปยังช่วงบางจาก-แบริ่ง และช่วงสำโรง-เคหะ ค่าโดยสารสูงสุด 74 บาท

- กรณีที่เดินทางจากช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ต่อเนื่องไปยังช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ค่าโดยสารสูงสุด 74 บาท

- กรณีเดินทางทั้งระบบ จากช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ต่อเนื่องไปยังช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, ช่วงบางจาก-แบริ่ง และช่วงสำโรง-เคหะ ค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น