กระทรวงคมนาคม วอน กทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงคูคต-เคหะ สูงสุด 104 บาท ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน อ้างขอเอกสารที่เกี่ยวข้องปรับแก้ไขสัญญาจาก กทม. แล้วแต่ยังไม่ได้รับ ชี้เห็นว่าค่าโดยสารต้องไม่เกินรถไฟฟ้าสายอื่นที่นำมาใช้ สูงสุดไม่เกิน 42 บาท
วันนี้ (16 ม.ค.) จากกรณีที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่ จากเดิมให้ขึ้นฟรีส่วนต่อขยายช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต และ ช่วงสำโรง-เคหะ ทำให้ปัจจุบันมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 59 บาท จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้เหตุผลว่าในช่วงทดลองให้บริการ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกัน โดย กทม.ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ กทม.เห็นว่าแนวทางการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุด ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : แบกรับไม่ไหว! รถไฟฟ้าบีทีเอสราคาใหม่ คูคต-เคหะ จ่าย 104 บาท เริ่ม 16 ก.พ.นี้
กระทรวงคมนาคมออกเอกสารข่าว ระบุว่า ตามที่ กรุงเทพมหานครได้มีประกาศ เพื่อปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงวันที่ 15 มกราคม 2564 โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดถึง 104 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นภาระค่าเดินทางแก่ประชาชนโดยขาดการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ในคราวที่เห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สายสีเขียวส่วนต่อขยายระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กับ กรุงเทพมหานคร ที่ได้กำหนดให้ กระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน นั้น
กระทรวงคมนาคมจึงขอเรียกร้องให้ กรุงเทพมหานครชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียวดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย และหาหนทางอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ บริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ ในเรื่องขอการปรับแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ กทม. ได้พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อนำมาศึกษา และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 65 บาท ที่ กทม เสนอ ใช้เป็นฐานถึงปี พ.ศ. 2602 (38 ปี) ลงเหลือไม่เกินอัตราแนวทางที่ระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดใช้ เช่น สีน้ำเงิน สีชมพู สีเหลือง สีม่วง ที่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ 42 บาท แต่กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันลดอัตราค่าใช้จ่ายในการแก่ประชาชนต่อไป