“ศักดิ์สยาม” ติวเข้ม สั่ง รฟท.รื้อผังพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ รับไม่ได้ขาดทุนปีละเกือบ 400 ล้าน ขณะที่ขีดเส้น 1 เดือนเร่งปรับแผนรถไฟทางไกลเลิกวิ่งเข้าหัวลำโพง ลั่น พ.ย. 64 ต้องไม่มีปัญหาจุดตัดถนน จำเป็นจริงๆ ให้วิ่ง 4 ทุ่ม-ตี 4 เท่านั้น ดันเปิด PPP ประมูลพื้นที่ 5 แปลงย่านพหลฯ ปีนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดเดินรถ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สถานีกลางบางซื่อ และทดสอบระบบเดินรถจากสถานีบางซื่อ-ตลิ่งชัน ว่านโยบายในการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ คือ ต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งในระหว่างที่รอการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนสายสีแดง (PPP) ช่วง 3-4 ปี หรือในช่วงปี 2564-2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะบริหารเอง โดยการศึกษาพบว่า มีค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าซ่อมบำรุง รวม 4 ปี ประมาณ 1,440 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ของสถานีที่จะนำมาบริหารเชิงพาณิชย์ 5% (39,000 ตร.ม.) จะสร้างรายได้ประมาณ 267 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าขาดทุนมาก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติได้
หลักคิดคือ สถานีกลางซื่อลงทุนไปกว่า 30,000 ล้านบาท แต่พอเปิดให้บริการขาดทุนคงยอมรับไม่ได้ เท่าที่ดู จุดเคาน์เตอร์ขายตั๋วใหญ่มาก แต่จำเป็นหรือไม่ เพราะมีตู้ระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้ได้ จึงให้ รฟท.กลับไปทำแผนใหม่ ให้เวลา 1 สัปดาห์ จะปรับการใช้พื้นที่เป็น Smart Station คิดง่ายๆ รฟท.ต้องไปหาทางสร้างรายได้ให้ได้ประมาณ 400 ล้านบาท/ปี เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ก็ต้องไปคิดว่าจะใช้พื้นที่แค่ไหน พัฒนาอย่างไร อย่ายึดกับผลการศึกษาที่พาไปขาดทุน ตอนนี้ต้องหลับตาลบภาพเดิมแล้วคิดใหม่
นอกจากนี้จะต้องพิจารณาจัดสรรพื้นในสถานีกลางบางซื่อ สำหรับกลุ่มสินค้าโอทอปให้เข้ามาใช้พื้นที่สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งสองฝ่าย ภายใต้หลัก Profit Sharing หรือแบ่งปันกำไรกัน และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยเป้าหมายเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค. 2564
ส่วนเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มีจำนวน 3 สถานี คือ บางซื่อ-บางบำหรุ-ตลิ่งชัน ซึ่งใช้ระยะเดินทางประมาณ 15 นาทีเท่านั้น เร็วกว่าถนนที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสายสีแดงจะเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน แต่เนื่องจากโครงสร้างต่างๆ มีการก่อสร้างเสร็จมากว่า 5 ปีแล้ว ดังนั้น รฟท.จะต้องมีการซ่อมบำรุงให้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการเดินรถ โดยใช้เวลา 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 64)
ขีดเส้น 1 เดือน ปรับแผนเดินรถ เลิกใช้หัวลำโพง
สำหรับการปิดสถานีหัวลำโพงนั้น เป้าหมายคือเมื่อเปิดเดินรถสายสีแดง เดือน พ.ย. 2564 จะต้องไม่มีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) อีกแล้ว จากแผนที่ รฟท.เสนอว่ายังมีการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงไปจนถึงปี 2566 ตนเห็นว่า รฟท.สามารถปรับให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้ หากมีข้อจำกัด ความจำเป็นที่จะต้องเดินรถบางขบวนเข้าหัวลำโพง จะให้ปรับตารางเวลาเดินรถที่จำเป็นวิ่งเข้าหัวลำโพงช่วงระหว่าง 22.00-04.00 น.เท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรที่เป็นจุดตัดกับถนน
นอกจากนี้ ให้ รฟท.ไปคิดว่าเส้นทางเข้าหัวลำโพง เมื่อไม่มีรถไฟวิ่งไปแล้วจะนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างไร เช่น ทำเป็นทางวิ่งสำหรับออกกำลังกาย ส่วนพื้นที่ข้างทางจะปรับปรุงเพื่อพื้นที่ค้าขาย โดยมีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย และสะอาด เป็นต้น ส่วนสถานีหัวลำโพงจะปรับปรุงเป็นแลนด์มาร์กและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และรักษาพร้อมกับการพัฒนา ให้ รฟท.ศึกษาคือทำอย่างไรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย
เรื่องนี้ให้ประธานบอร์ด รฟท., ผู้ว่าฯ รฟท. และปลัดคมนาคม รับไปดำเนินการ ให้ได้ข้อสรุปและทำแผนใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อตัดสินใจ และเสนอนายกรัฐมนตรี เช่น จัดหาระบบขนส่งมวลชนอื่น รับผู้โดยสารเข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นรถ ขสมก. หรือรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำแผนบูรณาการกันเพื่อแก้ปัญหา เป็นโจทย์ที่ให้ รฟท.ไปทำแผนมา เน้นจะต้องไม่ตัดการจราจรได้อย่างไร
“ผมเห็นว่าไม่มีเรื่องใดที่ไม่มีผลกระทบ โดยต้องนำผลกระทบมาชั่งน้ำหนัก หากสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หากไม่เปลี่ยน รฟท.ก็จะเป็นแบบนี้ จุดตัดถนน ทุกเช้า-เย็นก็ต้องจอดรอ เป็นปัญหาจราจร รวมถึงการวางแผนพื้นที่รอบนอก กทม.เพื่อดูเรื่องขบวนรถไปขนส่งสินค้าจอด เพื่อลดปริมาณรถเข้าสถานีหัวลำโพง ต้องไปบูรณาการขนส่งไป เหลือเวลาอีก 10 เดือน ยังมีเวลาในการปรับแผน”
โดย รฟท.รายงานว่า สถานีหัวลำโพงปัจจุบันมีรถเข้าใช้ 120 ขบวน/วัน แบ่งเป็นสายใต้ 28 ขบวน สานเหนือ และสายอีสาน 66 ขบวน สายตะวันออก 26 ขบวน โดยปี 2564 จะลดขบวนรถสายเหนือ และใต้เข้าหัวลำโพง ลง 30 ขบวน เหลือเข้าหัวลำโพง 90 ขบวน ปี 2565 ลดขบวนเข้าหัวลำโพงอีก 68 ขบวน สายเหนือ อีสาน และสายใต้ และปี 2566 การติดตั้งระบบ ETC สายบางซื่อ-ตลิ่งชันเสร็จ จะไม่มีรถเข้าหัวลำโพง
ทั้งนี้ มีปัญหาที่สายตะวันออก มีขบวนรถชานเมือง 26 ขบวน/วัน จำนวนผู้โดยสารประมาณ 3.5 ล้านคน/ปี ที่รถวิ่งเข้าหัวลำโพง รวมถึงการเข้าซ่อมบำรุงที่โรงซ่อมมักกะสัน ดังนั้น จำเป็นต้องแบ่งเฟสในการทยอยปรับการเดินรถหยุดที่สถานีหัวหมาก และใช้ระบบฟีดเดอร์ในการเดินทางเข้ามาที่หัวลำโพง และบางซื่อ
เปิดประมูลพัฒนาที่ดินย่านพหลฯ 5 แปลงในปีนี้
ส่วนการบริหารพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 2,325 ไร่ ซึ่งมีแบ่งออกเป็น 9 แปลงนั้น เบื้องต้น รฟท.ยืนยันว่า 5 แปลงแรก คือ แปลง A, E, G, D, B จะสามารถออกเงื่อนไข RFP เปิดประมูลได้ในปี 2564 ซึ่งจะมีทั้งการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า เป็นคอมมูนิตี้ ครบวงจรได้ในพื้นที่ ส่วน อีก 4 แผลงคือ แปลง C, F, H, I ซึ่งยังไม่มีความพร้อมเนื่องจากต้องย้ายโรงซ่อมรถจักรบางซื่อ สถานีขนส่งหมอชิต ให้ รฟท.เร่งไปทำไทม์ไลน์การดำเนินการรื้อย้ายหรือการจัดการพื้นที่เพื่อกำหนดการประมูล เพื่อให้พื้นที่ 4 แปลงหลังได้ตัวผู้พัฒนาในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องจาก 5 แปลงแรก
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกำหนดการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือน มี.ค. 2564 ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 2564 จากนั้นกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2564 โดยประมาณการอัตราค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงรังสิต ไม่เกิน 42 บาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงตลิ่งชัน ไม่เกิน 42 บาทเช่นกัน และในอนาคตจะพัฒนาระบบตั๋วโดยสารร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการด้วย