“สหภาพรถไฟฯ” ค้านปิดหัวลำโพง ยื่น “ศักดิ์สยาม” ทบทวนนโยบาย ชี้ทำประชาชนเดือดร้อน เพิ่มภาระการเดินทางด้านผู้ว่าฯ รฟท.เร่งวางแผนแก้ปัญหารถไฟสายตะวันออก ถกคมนาคม จัดรถ ขสมก.ฟีดเดอร์รับจากมักกะสันต่อเข้าเมือง เหตุเส้นทางยังไม่เชื่อมเข้าบางซื่อ
วันที่ 29 ม.ค. ที่กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสื่อให้ทบทวนนโยบายการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ ซึ่งนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนรับเรื่อง ซึ่ง รฟท. สร.รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางและแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพ รฟท.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย รมว.คมนาคม ที่จะปิดหัวลำโพงในเดือน พ.ย. 64 เพราะยังไม่มีความพร้อม และจะส่งผลกระทบทั้งการเดินรถโดยสาร การซ่อมบำรุงต่างๆ เชื่อว่าจะมีปัญหาแน่นอน การให้ขบวนรถทั้งหมดไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อทันทีจะกระทบต่อผู้ใช้บริการที่มีทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ต้องเข้ามาทำงานในเขตเมืองชั้นในในช่วงเช้าและเดินทางกลับเย็น ซึ่งโดยสารรถไฟขึ้นลงที่สถานีสามเสน สถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถานียมราชจำนวนมาก
“ค่าโดยสารรถไฟราคาถูก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพของประชาชนได้อย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนสถานีหัวลำโพงนั้นเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ มาตอกหมุดตรึงรางด้วยพระองค์เองเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2439 ซึ่งเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ การเร่งปิดหัวลำโพงโดยไม่พร้อมและไม่มีแผนรองรับที่ดี จึงไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายแน่นอน”
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า นโยบายของ รมว.คมนาคม คือ หลังเปิดสถานีกลางบางซื่อในเดือน พ.ย. 2564 จะปิดให้บริการที่สถานีหัวลำโพง โดย รฟท.จะเร่งวางแนวทางในการบริหารจัดการรถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล หลักการคือจะไม่มีรถโดยสารเข้าไปถึงสถานีหัวลำโพงหลังเปิดสถานีบางซื่อ แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องโรงซ่อม การเติมน้ำมันรถจักร ที่จะยังต้องเข้ามาที่สถานีหัวลำโพง จะต้องปรับตารางเวลาในการให้เข้ามาได้ช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบต่อจราจรบริเวณจุดตัดกับถนนตามนโยบายของ รมว.คมนาคม
เบื้องต้นรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ สามารถปรับแผนการเดินรถเข้าสถานีกลางบางซื่อได้ ส่วนเส้นทางสายตะวันออกยังมีปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากยังต้องเดินรถเข้ามายังหัวลำโพงเพราะเส้นทางยังไม่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ดังนั้น หากปิดหัวลำโพงจะต้องหาแนวทางบริหารจัดการผู้โดยสาร ซึ่งประเมินว่าจะกำหนดสถานีสุดท้ายที่มักกะสัน โดยจะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากการที่รถไฟจะไม่วิ่งเข้าหัวลำโพง ประมาณ 3,000 คน/วัน หากกำหนดสถานีสุดท้ายเป็นหัวหมาก จำนวนผู้โดยสารกระทบจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รฟท.จะต้องหาแนวทางดูแลผู้โดยสารกรณีตัดเส้นทางหยุดที่มักกะสัน โดยจัดหาระบบโลจิสติกส์อื่นรองรับ เช่น รถโดยสาร ขสมก. เป็นต้น ซึ่งจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ทำให้ผู้โดยสารมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ส่วนสถานีหัวลำโพงจะนำไปใช้ทำอะไรนั้น มีการศึกษาไว้เมื่อปี 2555-2556 ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ซึ่ง รฟท.จะต้องนำมาพิจารณาทบทวนเพื่อให้เหมาะสมกับปัจจุบัน รวมถึงการใช้ประโยชน์บนแนวเส้นทางรถไฟช่วงที่เข้าสู่สถานีหัวลำเพง หลังจากไม่มีการเดินรถไฟแล้วเพื่อให้เปิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่น บริเวณสามเสน จิตรลดา เป็นต้น
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้จะหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน แต่จะต้องมีผลกระทบอยู่อีก เหมือนตอนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะต้องปิดสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นก็มีผลกระทบ แต่ต้องยอมรับและปรับตัว ดังนั้น เมื่อเปิดบางซื่อเป็นสถานีกลาง แล้วยังมีหัวลำโพงด้วยก็อาจจะไม่ใช่ เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่เมื่อมีนโยบายชัดเจน รฟท.ต้องดำเนินการ และดูแลเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชน”