xs
xsm
sm
md
lg

กกร.จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยดันตั้งคณะทำงานกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.แนะรัฐต้งคณะทำงานเตรียมการฉีดวัคซีนีให้ประชาชนในประเทศเร่งด่วนและให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องการเห็นการฉีดให้คนไทยเริ่มก.ค.นี้ และให้มีการจัดทำใบรับรองยืนยันการฉีดวัคซีน((Vaccine Passport) ดึงความเชื่อมั่นฟื้นเศรษฐกิจ คงกรอบศก.ปีนี้ยังโต1.5%-3.5%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
เปิดเผยหลังเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่จะขยายตัวในกรอบ 1.5%-3.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3%-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8% -1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมาตรการรัฐที่อัดฉีดเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามกกร.ขอให้ภาครัฐตั้งคณะทำงานเตรียมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนและให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ

“ อยากเห็นไทยมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในก.ค.เป็นต้นไปจนถึงธ.ค.นี้ และให้มีการทำใบรับรองยืนยันการฉีดวัคซีน( (Vaccine Passport ) ให้กับพนักงาน ต่างชาติที่ทำงานในไทย และต่างด้าวโดยในส่วนของต่างด้าวและต่างชาติเอกชนพร้อมร่วมมือรัฐในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยขอลดหย่อนภาษีเรื่องการฉีดวัคซีนโดยเป็นโมเดลในการบริหารจัดการนำร่องในภาคท่องเที่ยวก่อนก็ได้ ซึ่งขณะนี้ต่างประเทศมีการฉีดวัคซีนไปแล้วทำให้กิจกรรมต่างๆจะกลับมาดีขึ้นแต่ก็ยังต้องติดตามไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนความสามารถในการส่งมอบวัคซีนในหลายประเทศที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป”นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ยอมรับถูกกดดันจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่ยังไม่คลี่คลายระยะสั้นจึงอยู่ที่ 2 ปัจจัยหลักได้แก่ ความสามารถในการควบคุมโควิด-19 ที่รัฐบาลได้มีการเร่งตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อซึ่งถือว่าทำได้ดี 2.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่ท้าทายที่ตลาดแรงงานมีความเปราะบาง อย่างไรก็ตามว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่กกร.เองยังกังวลปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าและรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังจะทยอยออกมาตั้งแต่มี.ค.นี้ ดังนั้นจึงอยากเห็นการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่รัฐได้ห่างหายไปราว 2-3 เดือนเพื่อหามาตรการขับเคลื่อนร่วมกัน

สำหรับการประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินของเมียนมากกร.มีข้อกังวลหากการเมืองจากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกมีการแซงชั่นอาจส่งผลกระทบได้ แต่ระยะสั้นจำเป็นต้องติดตามนโยบายอีก 1-2 สัปดาห์ซึ่งเบื้องต้นหากยึดตามรัฐธรรมนูญเดิมก็ไม่น่าจะกระทบมากนัก โดยตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันไทยมีการลงทุนในเมียนมา 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสว่นใหญ่เป็นธุรกิจพลังงาน สถาบันการเงิน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ และปีที่ผ่านมามีการลงทุนราว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐแต่ปี 2564 การลงทุนน่าจะชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 และอาจจะมาจากประเด็นการเมืองประกอบด้วย

นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การจัดหาและฉีดวัคซีนต้องการให้รัฐมีแผนที่ชัดเจนว่าจะนำเข้ามาเมื่อใด ฉีดกับกลุ่มใดก่อน ซึ่งการฉีดควรจะเริ่มตั้งแต่กรกฏาคมเป็นต้นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและนี่จะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวที่สำคัญ อย่างไรก็ตามยังห่วงเรื่องการท่องเที่ยวที่ก่อนหน้ารัฐขอรายชื่อโรงแรมที่จะนำไปสู่มาตรการช่วยเหลือซึ่งเอกชนได้ส่งรายชื่อไปแล้ว 1,800 แห่งซึ่งเป็นขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) หากเร่งช่วยเหลือก็จะรักษาแรงงานไว้ได้ก่อนที่จะถูกเอาออก
กำลังโหลดความคิดเห็น