"คลัง" ปรับลดเป้าหมายจีดีพี ปี 64 ขยายตัว 2.8% จากเดิม 4.5% ต่อปี เหตุไวรัสระลอกใหม่ ขณะที่รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ การขยายชำระหนี้ผ่านแบงก์รัฐ เศรษฐกิจไทยในปี 64 จึงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 4.5 ปรับลดจากการการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดในหลายประเทศ กระทบต่อการเดินทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 64 ลดลงเหลือ 5 ล้านคน จากปี 63 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางแบบพิเศษเข้ามา 6.7 ล้านคน
ขณะที่รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ การขยายชำระหนี้ผ่านแบงก์รัฐ เศรษฐกิจไทยในปี 64 จึงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะคาดการณ์จีดีพี 15 ประเทศคู่ค้าขยายตัวร้อยละ 5.2 หลายประเทศคุมเข้มป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 12.1 ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี จากเดิมหดตัว -6.6 ในปี 63 โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก มีทิศทางสูงขึ้น น้ำมันดิบตลาดดูไบ 55.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทเฉลี่ย 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ 2.ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ 3.นโยบายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีกระทรวงแรงงานเสนอรัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องการหารือระดับนโยบายระหว่างรัฐมนตรีคลัง และกระทรวงแรงงาน
ยอมรับว่ายังมีวงเงินช่วยเหลือเยียวยาเหลืออยู่ในด้านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงต้องดูว่าผู้ประกันตนมาตราดังกล่าวประมาณ 11 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้น้อยเข้าข่ายเช่นเดียวกับการจ่ายเยียวยาโครงการเราชนะอย่างไรบ้าง โดยต้องหารือทั้งสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ วงเงินช่วยเหลือ