ส.อ.ท.ร่วมมือกระทรวงสาธารณสุขหนุนผู้ประกอบการไทยผลิตตู้แช่รับวัคซีนโควิด-19 หลังเบื้องต้นพบการพัฒนาตู้แช่ได้ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้าต่างประเทศถึง 50% พร้อมผนึกกำลังภาคเอกชนผุดโรงพยาบาลสนาม 200 เตียงที่ จ.สมุทรสาคร คาดเสร็จ 1-2 เดือนนี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขถึงกรณีที่ไทยมีแผนการที่จะตั้งศูนย์การผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตตู้เย็นและตู้แช่ของไทยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตู้แช่วัคซีนดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าผู้ผลิตในประเทศสามารถพัฒนาตู้แช่ที่มีคุณสมบัติรักษาอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียสในราคาต่ำประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาหลักแสนบาท
“กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กองควบคุมโรค ฯลฯ ได้หารือกันในเบื้องต้นเพื่อที่จะเร่งพัฒนาตู้แช่วัคซีนโควิด-19 ให้ออกมาในระยะแรกให้ทันภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งผมเห็นว่าหากมีการส่งเสริมกันจริงจังก็จะทำให้เกิดคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมการแพทย์ได้อย่างครบวงจรและเราสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว
นายสุพันธุ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร จังหวัดสมุทรสาครเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม นำร่องใน จ.สมุทรสาคร ขนาด 200 เตียง ว่า ส.อ.ท.ได้หารือกับเครือข่ายเอกชนในพื้นที่กับกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ร่วมเห็นชอบการออกแบบโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงแล้ว ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่บางส่วนของพื้นที่ 49 ไร่ที่มีเอกชนได้อนุเคราะห์ให้ภาครัฐดำเนินการชั่วคราว คาดว่าแผนก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในอีก 1-2 เดือนนี้
“ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนใน จ.สมุทรสาครเพื่อควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ซึ่งภาคเอกชนจะระดมเงินสนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามที่คาดว่าจะใช้เงินในการดำเนินการราว 8-10 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เนื้อที่บางส่วนของที่ดินที่มีผู้อนุเคราะห์ให้มาดำเนินการ 49 ไร่บริเวณติดถนนพระราม 2 ซึ่งเตียงสนามดังกล่าวจะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อให้กับสถานประกอบการที่ไม่มีพื้นที่รองรับแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีสถานกักกันตัว” นายสุพันธุ์กล่าว
แหล่งข่าวจากสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งระยะยั่งยืนมีแผนที่จะตั้งศูนย์การผลิตวัคซีนในประเทศที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสามารถผลิตวัคซีนตามมาตรฐานออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา กำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งวัคซีนตามมาตรฐานดังกล่าวสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ดังนั้นจึงได้หารือที่จะพัฒนาในไทยรองรับเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตตู้เย็นอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ได้หารือถึงแผนงานการผลิตและการพัฒนาตู้แช่วัคซีนโควิด-19 โดยกำหนดไว้ 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเป็นตู้แช่วัคซีนรักษาอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสสำหรับ 76 จังหวัดจังหวัดละ 1 เครื่องที่จะมีการทยอยส่งมอบเริ่มแรกในช่วงต้น ก.พ.นี้ ซึ่งผู้ผลิตไทยสามารถทำราคาต่ำกว่า 45,000 บาทต่อตู้ที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศที่จะมีราคาสูงประมาณ 100,000 บาท
ส่วนเฟสที่ 2 ตู้แช่วัคซีนคุณสมบัติ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาในประเทศไทยด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในเฟสนี้ตามแผนการสั่งซื้อและผลิตวัคซีนเพื่อคนไทย ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาและการทดสอบตู้แช่ และขอให้สนับสนุนการซื้อสินค้าไทยตามมติ ครม.และระเบียบการจัดซื้อกรมบัญชีกลางโดยระบุให้จัดซื้อสินค้าที่ได้ใบรับรอง Made in Thailand เป็นต้น