ส.อ.ท.เผยโควิด-19 รอบใหม่ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับตัวลดลงต่อจากความไม่แน่นอน วอนรัฐคุมการระบาดเข้มงวด เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ หนุนเพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งเป็น 5,000 บาท และขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 จ่อถก ธปท. 22 ม.ค.คลายล็อกซอฟต์โลน 5 แสนล้านให้ถึงเอสเอ็มอี พร้อมชี้ช่อง ธปท.ให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1% ฟื้น ศก.หลังต้นทุนต่ำลง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยค่าดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่งและกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง โควิด-19 รอบใหม่ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สะท้อนไปยังดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19
“การกลับมาระบาดโควิด-19 ทำให้มีการงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด 2. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย 3. เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ
4. สนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564
นายสุพันธุ์กล่าวว่า วันที่ 22 มกราคมนี้ ส.อ.ท.โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (เอสเอ็มไอ) จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับแนวทางการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้าน ซึ่งที่ผ่านมาปล่อยได้เพียง 1.2 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท โดยประเด็นที่จะเสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ มีเพียบางส่วนที่จะเสนอเพิ่มเติมโดยเฉพาะต้องการให้ บสย.ค้ำวงเงินกู้นี้ด้วยเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
“นอกเหนือจากซอฟต์โลนดังกล่าว วันนี้เองอยากให้ ธปท.ไปดูสถาบันการเงินเพราะมองว่าเวลานี้มีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 1% จึงอยากให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลงมาสัก 1% ก็ไม่เสียหาย ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่หากทำได้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้เร็วมากขึ้น และอาจจะพ่วงในเรื่องของการติดตามค่าเงินที่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าภูมิภาค ซึ่งยอมรับว่าช่วงนี้ดีกว่าที่ผ่านมาที่ไทยแข็งค่านำภูมิภาค” นายสุพันธุ์กล่าว