xs
xsm
sm
md
lg

คิวต่อไปช่วยSME-ปลดล็อกซอฟต์โลน5แสนล. … ลดดอกเบี้ยเงินกู้1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- เร่งแก้สภาพคล่องเอสเอ็มอี หลังเผชิญโควิด-19 ระรอกใหม่ ส.อ.ท.โดยสถาบัน SMI เตรียมหารือกับธปท.วันที่ 22 ม.ค.นี้เพื่อหาแนวทางปลดล็อกเงินซอฟต์โลน 5 แสนล้นบาท ที่ปล่อยได้เพียง1.2 แสนล้านบาท จ่อเสนอ 5 ประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อเสนอของกมธ. พร้อมแนะสถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1% ขับเคลื่อนศก.หลังต้นทุนทางการเงินต่ำลง หนุนเปิดคนละครึ่งเฟส 3 ช้อปดีมีคืน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 22 มกราคมนี้ส.อ.ท.โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต(SMI) จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ว่าด้วยการคลายล็อกพ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านเดิมและล่าสุดคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ได้เสนอใหม่ซึ่งส.อ.ท.จะนำเสนอแนวทางแก้ไขที่สำคัญ 5 ประเด็นเพื่อให้เข้าถึงเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง

“ ซอฟต์โลนดังกล่าวออกมานับปีแล้วแต่ปล่อยไปเพียง 1.2 แสนล้านบาทเพราะมีข้อจำกัดมากสุดท้ายเงินดังกล่าวก็ตกกับผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อน คณะกรรมาธิการ(กมธ.)จึงเสนอแก้ไข เพิ่มเติมโดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาสัปดาห์หน้าซึ่งประเด็นที่กมธ.เสนอแก้ไขส่วนใหญ่ส.อ.ท.เห็นด้วยอาทิ สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ธปท.ภายใน 5 ปี เป็นต้น แต่ก็มีบางประเด็นที่เห็นว่าต้องเพิ่มโดยเฉพาะการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ค้ำประกันเพราะเดิมไมให้ ซึ่งจุดนี้อาจจะประสบปัญหาเช่นที่ผ่านมาที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงวงเงินเกือบ 4 แสนล้านบาทก็คงไปไม่ถึงและเรื่องนี้เองก็จะมีการสรุปข้อเสนอต่างๆให้ธปท.แล้วยังจะเสนอให้กับรมว.กระทรวงการคลังด้วย”นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับข้อเสนอมาตรการเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอีที่ส.อ.ท.จะขอเสนอเพิ่มเติมมี 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป2. ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก 3. ขอให้มีการปรับจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ 4. ให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1% และ5. ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม 40%

นอกจากนี้หากเป็นไปได้ยังต้องการเสนอแนะให้ธปท.ช่วยพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินในไทยที่ขณะนี้มีทิศทางลดต่ำลงมากกว่า 1% ซึ่งเห็นว่าสถานภาพดังกล่าวสถาบันการเนสามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในประเทศและประชาชนที่มีภาระการกู้เงินเช่น การกู้ผ่อนบ้าน ได้โดยหากลดลง 1% ก็ยังไม่กระทบกับสภาพคล่องของสถาบันการเงินแต่อย่างไร และตรงกันข้ามจะช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“อยากให้สถาบันการเงินช่วยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลงมาสัก 1% ก็ไม่เสียหายก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่หากทำได้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้เร็วมากขึ้น และทางส.อ.ท.อาจจะถือโอกาสหารือในเรื่องของการติดตามค่าเงินบาทที่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าภูมิภาคซึ่งยอมรับว่าช่วงนี้ดีกว่าที่ผ่านมาที่ไทยแข็งค่านำภูมิภาค” นายสุพันธุ์กล่าว




หนุนมาตรการคนละครึ่งเฟส3 -ช้อปดีมีคืน

นายสุพันธ์ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยค่าดัชนี ดังกล่าวปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก สะท้อนไปยังดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ โควิด-19

“โควิด-19รอบนี้หนักมากธุรกิจโรงแรมบางแห่งถึงต้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศล็อคดาวน์เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ อันนี้เราถึงต้องมาเร่งให้มีการดูแลเรื่องสภาพคล่อง”นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด 2. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย 3. เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเห็นว่ามาตรการที่ผ่านมา เช่น เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

4. สนับสนุนให้มีโครงการช็อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ ปี 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น