ธนาคารกรุงไทย (KTB) รายงานผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนการตั้งสำรองปี 2563 กว่า 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อานิสงส์สินเชื่อเติบโตกว่าร้อยละ 12 และการคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนการเงิน หนุน Cost to Income ratio ลดลงเหลือร้อยละ 43.7% รุกตั้งสำรองเข้มเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 88.6% รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิด NPLs Cliff หลังเดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปี 2563 เท่ากับ 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่เติบโตดีร้อยละ 12 ซึ่งธนาคารขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึงร้อยละ 14.4 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.7 ลดลงจากร้อยละ 49.7 ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง จำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ ในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ซึ่งธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 147.3 จากร้อยละ 131.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.81 ลดลงจากร้อยละ 4.33 ณ 31 ธันวาคม 2562 จากผลประกอบการดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 14,634 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเล็กน้อย ประกอบกับการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง แม้ว่าธนาคารได้บริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 16.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาในไตรมาส 4/2563 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.8 ตามหลักการพิจารณาอย่างรอบคอบส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 3,453 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ณ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,197,674 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12 จากสิ้นปี 2562 โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.35 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ร้อยละ 18.76 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปี 2563 ธนาคารได้เผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการมาตรการต่างๆ อีกทั้งได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวภายใต้สภาวะ New Normal ได้โดยเร็ว พร้อมกันนั้น ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ การให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2563