xs
xsm
sm
md
lg

ทิสโก้ชูกลยุทธ์เติบโตยั่งยืน ยันพร้อมปันผลตามเกณฑ์ ธปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มทิสโก้แถลงแผนการดำเนินงานปี 2564 เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าก้าวข้ามวิกฤตต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านธุรกิจการให้คำแนะนำทางการเงิน-การลงทุนมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงลึก (In-depth Advisory) ด้านผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาท ลดลง 16% ยันพร้อมจ่ายปันผลตามที่แบงก์ชาติอนุญาต

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารในปีที่ผ่านมาได้รับกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่่วโลก และในประเทศไทยเองจากสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ก็ยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ในปี 2564 จึงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่มทิสโก้ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ควบคู่กับการบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ รวมถึงการดูแลติดตามและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงกลางปีนี้ นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสของการเติบโตจากความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่ เพื่อใช้ดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง

"เรามองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 2.0% ถือเป็นอัตราการฟื้นตัวในระดับต่ำมากจากปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมามีความไม่แน่นอนได้อีกครั้งในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ก็คงจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญ ขณะที่เอ็นพีแลอก็อาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยประเมินกรอบที่ 3-3.5% พร้อมดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยในปีก่อนที่มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 5-6 หมื่นราย หรือคิดเป็น 20%ของสินเชื่อรวม ซึ่งปัจจุบันมากกว่า 90%กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีบางส่วนเข้าโครงการรอบ 2 ประมาณ 2% ซึ่งปัจจุบันธนาคารก็เปิดกว้างให้ลูกค้าเข้าโครงการอยู่"

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้นั้น ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ขณะที่การจ่ายเงินปันผลนั้น ธนาคารก็พร้อมที่จะจ่ายให้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตคือ ไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิในปีก่อน แต่เนื่องจากทิสโก้มีหลายธุรกิจอยู่ในบริษัทเดียวกัน จึงต้องมีการจัดสรรกันตามความเหมาะสมก่อน

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า กลยุทธของปี 2564 จะปรับไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงเน้นในด้านธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยในธุรกิจสินเชื่อจะมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อเพื่อการบริโภค ในกลุ่ม Tisco Autocash สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โดยจะครอบคลุมทั้งสินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ ด้านธุรกิจแบงก์แอชชัวรันส์ เน้นการร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้า รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจรถยนต์ในลักษณะ Branded Insurance และกลุ่มธุรกิจธนบดีซึ่งขณะนี้มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่เกือบ 300,000 ล้านบาทนั้น จะมุ่งเน้นการให้บริการ Open Architecture เต็มรูปแบบ รวมถึงขยายการให้บริการด้านที่ปรึกษา-วางแผนทางการ พร้อมกันนั้น จะเร่งพัฒนา Digital Platform และ Eco System เข้ามาใช้ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ

การขับเคลื่อนธุรกิจในภาวะนี้ต้องเน้นยั่งยืน สินเชื่อก็อยากโตแต่จะได้มากน้อยขึ้นกับภาวะโดยรวม แต่ที่สำคัญต้องเติบโตอย่างยั่งยืน ผลกระทบด้านหนี้เสียก็ต้องดูแลบริหารจัดการกันไป การตั้งสำรองทำอย่างแข็งแกร่งซึ่ง Coverage Ratio ของธนาคารสูงมาก ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 210% จากสิ้นปี 2562 ที่ 183% แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่นั่งนอนใจกับสถานการณ์ การตั้งสำรองก็เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความั่นใจและเสริมความแข็งแกร่งเพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ทันทีเมื่อถึงถึงเวลาที่เหมาะสม


นายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 6,063 ล้านบาท ลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมลดลง 2.7% มาจากการชะลอตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน จากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น 2.4% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในภาวะดอกเบี้ยขาลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง 13.6% ตามทิศทางการชะลอตัวของรายได้ ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) มีจำนวน 3,331 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการตั้งสำรองตามโมเดลของมาตรฐานบัญชี TFRS 9 และการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ของปี 2563 อยู่ที่ 15.4%

ด้านเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 224,812 ล้านบาท ลดลง 7.4% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อ SME ตามการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นปีอยู่ที่ 2.5% โดยบริษัทยังคงติดตามและดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด ส่งผลให้บริษัทมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 210.5% ณ สิ้นปี 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น