คาดผลประกอบการกลุ่มแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 63 กำไรร่วงยกแผง เหตุต้นทุนสินเชื่อ ค่าใช้จ่าย และNPL สูง ฉุดผลงาน แต่ฟื้นจากไตรมาสก่อน หลังตัวเลขการตั้งสำรองลด ขณะรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับ คาดถูกหักล้างด้วยแนวโน้ม NIM ที่ปรับตัวลงตาม Asset Yield ที่มีโอกาสปรับลงต่อ จากการที่ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ในเฟส 2 เชื่อทุกแบงก์สามารถจ่ายปันผลได้
ตลาดหุ้นไทยสดใสรับศักราชใหม่ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียจากกระแส Blue Wave ที่ทางพรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจีย ซึ่งน่าจะทำให้หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของนายโจ ไบเดน ปรับตัวขึ้นได้ดี อย่างพวก Green Energy และพวกรถ EV รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีเริ่มทยอยนำมาใช้ในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ถือเป็นปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่ง
แม้ว่าเมื่อปลายปี 2563 หลังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติออกประกาศขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้ "งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล" พร้อมกับ "งดการซื้อหุ้นคืนของแบงก์พาณิชย์" ซึ่งนับว่าเพื่อช่วยเหลือแบงก์พาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผู้ถือหุ้น กลายเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้น และทำให้ราคาหุ้นแบงก์พาณิชย์อยู่ในช่วงขาลง เพราะหุ้นแบงก์นั้นเป็นหุ้นในกลุ่มหุ้นบลูชิป นักลงทุนมักจะถือหุ้นไว้ในพอร์ตเป้าหมายเพื่อรับเงินปันผล นอกจากหวังในเรื่องกำไรจากส่วนต่างในเรื่องของราคาหุ้น
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแบงก์ชาติออกมาไฟเขียวให้แบงก์พาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2563 ได้ โดยมองว่าแบงก์ของไทยยังแข็งแกร่ง ผ่านผลประเมิน Stress Test ของสถาบันการเงิน มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์เลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งสถาบันการเงินได้เพิ่มทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมตลอด ภายใต้เงื่อนไขห้ามจ่ายปันผลเกินอัตราที่เคยจ่ายในปี 2562 ที่ผ่านมา และต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของปี 2563 เหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาในหุ้นกลุ่มแบงก์ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ต้นทุนสินเชื่อ-NPL สูงฉุดกำไร
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ มองเศรษฐกิจอาจชะลอ แต่ไม่ชะงัก คงมุมมอง "บวก" หุ้นเด่นยังคงเป็น TMB และ KBANK เพราะการระบาดระลอกสองของโควิด -19 อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป บล.เมย์แบงก์ มองว่าการระบาดระลอกใหม่นี้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระลอกแรกที่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากรอบนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ถือว่าสะท้อนความกังวลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ไปแล้ว โดยซื้อขายในราคาต่ำมากที่ P/BV ปี 2564 ที่ 0.63 เท่า
โดยหุ้นเด่นของ บล.เมย์แบงก์ ยังคงเป็น TMB และ KBANK เนื่องจากผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง สำหรับธนาคารขนาดเล็ก บล.เมย์แบงก์ ปรับราคาเป้าหมาย KKP ขึ้นเป็น 65 บาท (จากเดิม 58 บาท) หลังจากปรับกำไรปี 64-65 ขึ้น 4% เพื่อสะท้อนการเติบโตของสินเชื่อที่มั่นคงและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจากตลาดทุน นอกจากนี้ บล.เมย์แบงก์ ยังชอบ TISCO ที่มีแนวโน้มผลประกอบการสูง งบดุลที่มั่นคงและผลตอบแทนเงินปันผลที่ดี ความเสี่ยงหลักคือการเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคาร 7 แห่งที่ บล.เมย์แบงก์ ศึกษาจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 รวม 2.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 34% เทียบปีก่อน (คงที่จากไตรมาสก่อน ) เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นและ NIM ที่ลดลง คาดว่า BBL จะรายงานผลประกอบการเติบโตสูงสุดที่ 29% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากต้นทุนการรวมสาขาและระบบของ Permata Bank ที่สูงในไตรมาส 3 ปี 2563 สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตจากไตรมาสก่อน เนื่องจากฤดูกาลของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสูง บล.เมย์แบงก์ คาดว่าสินเชื่อปี 253 จะเติบโต 7.4% จากปีก่อน หนุนโดยการเข้าซื้อกิจการ Permata Bank ของ BBL
โดย NIM น่าจะลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งและการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ Non-NII คาดว่าจะลดลงเทียบปีก่อน จากฐานกำไรจากการลงทุนที่สูงในไตรมาส 4 ปี 2562 จาก BBL และ KBANK อย่างไรก็ตาม คาดว่า non-NII จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้น และผลกำไรจากการลงทุนในตราสารทุนที่สูงขึ้น
ขณะที่คาดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น 12bp จากไตรมาสก่อนเป็น 4.33% ขณะที่ต้นทุนสินเชื่อจะอยู่ในระดับสูงใน 4 ปี 2563 เชื่อว่าธนาคารขนาดใหญ่จะรับรู้ผลกำไรจากการลงทุนและนำมาตั้งสำรองไว้รองรับ NPL ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ประเมินอัตราส่วน NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ในปี 2564 แต่ต้นทุนสินเชื่อจะลดลงในปี 2564 เนื่องจากการตั้งสำรองล่วงหน้าในปี 2563 โดยรวมแล้ว คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPoP) จะลดลง 13% จากปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 4 ปี 2563 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 และปี 2563 ในระหว่างวันที่ 18-21 ม.ค.2564
พร้อมประเมินผลประกอบการของกลุ่มแบงก์จะเติบโต 13-14% ในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุน ROE ให้สูงขึ้นแตะ 6.5-7.0% ในปี 2564-2565 จาก 5.8% ในปี 2563 บล.เมย์แบงก์ คาดว่าผลการดำเนินงานและผลประกอบการของธนาคารจะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2564 เป็นต้นไป เนื่องจาก NIM และต้นทุนสินเชื่อจะต่ำสุดในครึ่งแรกปี 2564 การอ่อนตัวของราคาหุ้นในช่วงนี้เป็นโอกาสเข้าสะสม
ตั้งสำรองลด-รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บล.หยวนต้า ออกบทวิเคราะห์ คาดไตรมาส 4 ปี 2563 กำไรฟื้นจากไตรมาสก่อนหน้า หลังตั้งการสำรองผ่อนคลายลง และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับขึ้น ซึ่งเบื้องต้นยังคงคาดกำไรในไตรมาส 4 ปี 2563 ของแบงก์ไทยภายใต้ Coverage ของ บล.หยวนต้า ทั้ง 7 แห่งจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ จากการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง หลังระดับ Coverage Ratio ของแต่ละแบงก์ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับที่แข็งแรงกว่าช่วงต้นปี
นอกจากนี้ ทิศทางการไหลตกชั้นของลูกหนี้ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย คาดจะเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้จะหมดอายุโครงการช่วยเหลือทางการเงินในเฟส 1 ไปแล้ว แต่แบงก์อาจพิจารณาต่ออายุให้แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพฟื้นตัวต่อไปได้จนถึงกลางปี 2564 ส่งผลให้ลูกหนี้ที่จะเป็นหนี้เสียในปีนี้และต้นปีหน้ามีเพียงกลุ่มที่ไม่สามารถติดต่อได้ หรือเป็นหนี้เสียที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ต่ำแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดี ซึ่งคาดจะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ทำให้ NPL ในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.6-1% ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งตั้งสำรองในระดับสูงเหมือน 2 ไตรมาสก่อนหน้าที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและกำไรจากการตีมูลค่าเงินลงทุน อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวบางส่วนคาดถูกหักล้างด้วยแนวโน้ม NIM ที่ปรับตัวลงตาม Asset Yield ที่มีโอกาสปรับลงต่อ จากการที่ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ในเฟส 2 จึงทำให้การฟื้นตัวของ NIM อาจต้องใช้เวลานานขึ้น
เชื่อทุกแบงก์จ่ายปันผลได้
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัดหรือ ASPS กล่าวว่า 8 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประเมิน พบว่า ทุกธนาคารจะจ่ายปันผลงวดปี 2563 ได้ทุกแห่ง คือ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ TMB และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB
ขณะที่ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2563 คาดว่าจะกำไรสุทธิ 26,363 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ที่กำไรสุทธิ 29,502 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 9.4% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 41,366 ล้านบาท ลดลง 36.3% ขณะที่ปี 2563 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 129,946 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 197,492 ล้านบาท ลดลง 34.2%
ทั้งนี้ ASPS แนะนำ TISCO, BBL และ KBANK ที่ตั้งสำรองในระดับที่สูงกว่าแบงก์อื่น ขณะที่พื้นฐานมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19ในไทย และเชื่อว่าหากควบคุมโควิด-19 ภายในมกราคม 2564 เชื่อเศรษฐกิจไทยยังมีโมเมนตัมที่ดีเติบโต 4.1% เทียบปีก่อน ขณะที่กลุ่มมีความพร้อมรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนเทียบสินทรัพย์เสี่ยง (CAR หรือ BIS Ratio) กลุ่ม ณ สิ้นงวดไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 17-20% สูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 11-12% ประกอบกับกลุ่มมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
สำหรับการคาดแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ บนสมมติฐานอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ย หรือ Credit Cost กลุ่มอย่างอนุรักษนิยมที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกหนี้ทยอยครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ซึ่ง ณ สิ้นงวดไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 24% ของพอร์ตสินเชื่อกลุ่ม รวมถึงการจัดชั้นลูกหนี้ภายในเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในปี 2564 จึงมีโอกาสที่ธนาคารจะตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ ECL เพิ่มขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ด้านการดำเนินงานหลักคาด NIM ใกล้เคียงงวดก่อนที่ 2.91%
ขณะที่ภาพรวมกำไรของกลุ่มธนาคารในปี 2564 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นราว 12% จากปี 2563 มาที่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท หลังคาดว่าแรงกดดันจากการตั้งสำรองจะลดลง หลังที่ธนาคารต่างได้เพิ่มการตั้งสำรอไปมากในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของกลุ่มธนาคารยังอยู่ในระดับสูง 150-160% และยังมีเงินกองทุน (BIS ratio) ขั้นต่ำที่สูง 11-12% สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีความสามารถรองรับความเสี่ยงได้
ภาระค่าใช้จ่ายอ่วม ดึงกำไรติดลบ
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ภาพสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีเดียวกัน จากมหกรรมมอเตอร์โชว์ ความต้องการสินเชื่อภาคการเกษตร หนุนให้ยอดสินเชื่อรวมทั้งปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัว 4-5% จากยอดสินเชื่อรายใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องภายในองค์กร และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการรีไฟแนนซ์ และลูกหนี้บางส่วนที่ยังได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการ
โดย คาดกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 ติดลบ ด้านกระแสเงินฝากก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแม้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR Ratio) จะอ่อนตัวลง โดยพบว่าปริมาณเงินฝากรวมในเดือนพฤศจิกายน 2563 เติบโตขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับว่าเติบโตเร็วกว่าสินเชื่อ ซึ่งจะเห็นว่าทุกธนาคารต่างมีเงินฝากที่โตขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพราะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยมีปริมาณเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ที่ 15-16% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) ของกลุ่มธนาคารประจำเดือนตุลาคม 2563 เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 20.1% ขณะที่อัตราส่วนการตั้งสำรอง (Coverage Ratio) ก็ปรับสูงขึ้นเป็น 149%
ดังนั้น จึงคาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าไตรมาสอื่น และตั้งค่าความสูญเสียด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่สูงขึ้นเพื่อรับมือกับหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่สูงขึ้น ส่งผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบเมื่อเทียบกับปี 2562 แต่ด้วยราคาหุ้นเฉลี่ยที่ไม่แพงที่ P/BV 0.6 เท่า หรือ -2SD ต่อค่าเฉลี่ย 15 ปี
ขณะที่ KTB-KKP ปันผลเด่น จึงแนะนำ "ทยอยสะสม" เพื่อรอรับการจ่ายเงินปันผลงวดประจำปี 2563 ที่คาดการณ์เฉลี่ย 4-5% และเลือก KTB เป็น Top Pick ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และ KKP เป็น Top Pick ของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก