xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มแบงก์กำไรปี 63 ทรุดเกือบ 32% โหมกันสำรองฯ รับโควิด-19 ระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มแบงก์พานิชย์กำไรไตรมาส 4 ลดลงตามคาด โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 113,654 ล้านบาท ลดลง 63,356 ล้านบาท หรือลดลง 35.79% ส่วน ที่เหลืออีก 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 24,644 ล้านบาท ลดลง 1,067 ล้านบาท หรือลดลง 4.14% ส่งผลให้ทั้งกลุ่มทรุดเกือบ 32% ผลจากภาระตั้งสำรองและโควิด-19 ระบาด ขณะปี 64 ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม

จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ และในแทบทุกภาคธุรกิจอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ธนาคารพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งจากเทคโนโลยี ดิสรัปชันที่ยังส่งผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า และซึ่งสะท้อนออกมาให้ออกมาทางผลประกอบการตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงผลสรุปของผลประกอบการงวดสื้นปี 2563 ซึ่งจะทำให้เห็นถึงภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจในปีนี้ได้ชัดขึ้น (ดูตารางประกอบ)

รายได้หด-เร่งกันสำรอง

สำหรับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง พบว่ากำไรสุทธิลดลง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์และเฮ้าส์ (LHFG) ประจำปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 138,298 ล้านบาท ลดลง 64,423 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31.78% เมื่อเทียบสิ้นปี 2562 โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 113,654 ล้านบาท ลดลง 63,356 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 35.79% ที่เหลืออีก 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 24,644 ล้านบาท ลดลง 1,067 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 4.14%

ทั้งนี้ การลดลงของกำไรสุทธิดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียม ผนวกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนหลักๆ มาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นกว่าระดับปกติหลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องออกมาตรการพักชำระหนี้-เงินต้นให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์

โดยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีสัดส่วนกำไรสุทธิลดลงสูงสุดที่ 52.03% โดยปัจจัยหลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 31,196 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 181.6% เป็นการเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง สาเหตุหลักจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุน จากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิ 16,731 ล้านบาท ลดลง 12,553 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 42.87% โดยธนาคารทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงจำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.6% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ซึ่งธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 147.3% จาก 131.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร โดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 3.81% ลดลงจาก 4.33% ณ 31 ธันวาคม 2562

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2563 ธนาคารได้เผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการมาตรการต่างๆ อีกทั้งได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวภายใต้สภาวะ New Normal ได้โดยเร็ว ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ การให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบผ่านบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2563

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสุทธิ 27,217 ล้านบาท ลดลง 13,219 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 32.69%.โดยในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีอัตราส่วน NPL ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.68% เพิ่มขึ้นจาก 3.41% ในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 141% ขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.2%

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งผลกำไรที่ระดับ 29,487 ล้านบาท ลดลง 9,239 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.86% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,536 ล้านบาท หรือ 28.04% ซึ่งเป็นการตั้งสำรองตั้งแต่ในครึ่งแรกของปีเป็นจำนวนรวม 32,064 ล้านบาท และรวมการตั้งสำรองในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 43,548 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถรองรับความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19%

"การตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระดับสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้า อย่างไรก็ดี แม้ว่าในครึ่งปีหลังที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าทยอยสิ้นสุดลง ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งในปลายไตรมาส 4 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ตาม ธนาคารได้มีการทบทวนประเมินความเพียงพอของสำรอง พบว่า การตั้งสำรองใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ธนาคารจึงพิจารณาตั้งสำรองในไตรมาส 4 ในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 ไตรมาสของปี แต่โดยรวมแล้วเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าว

ปี 64 ยังเสี่ยงสูง-เน้นพยุงลูกค้า

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรุงศรีฯ มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อนที่จะกลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2564 จากฐานที่ต่ำซึ่งหดตัวลง 6.4% ในปี 2563 อีกทั้งคาดว่าการฟื้นตัวจะอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ในปี 2564 ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งทางการเงิน กรุงศรีฯ จะยังคงดำเนินงานตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง และดำเนินมาตรการความช่วยเหลือเชิงรุก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในปี 2564 นั้น เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ประเมินว่า เส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และแรงหนุนส่วนใหญ่ยังมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในปี 2563 ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียซึ่งเปรียบเสมือนกันชนรับความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 134% เทียบกับ 120% ในปี 2562 ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับแนวโน้มหนี้เสียในอนาคตภายหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ของธนาคารลดลงจากระดับประมาณ 40% ในช่วงเริ่มต้นโปรแกรม มาอยู่ที่ประมาณ 15% สินเชื่อรวม ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากที่โปรแกรมแรกจบลง และด้วยการเตรียมการเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินในปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารมีความพร้อมในการรับมือกับปี 2564 และพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งใหม่ ด้านการรวมธนาคารคาดว่าเสร็จสิ้นได้ตามแผนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านราย ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร สำหรับปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม

ดังนั้น ธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงช่วงเวลาของการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ธนาคารจึงยังคงติดตามสถานการณ์และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 2.0% ถือเป็นอัตราการฟื้นตัวในระดับต่ำมากจากปีที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เข้ามาซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน สภาพคล่อง และกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่อีกด้านยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตธุรกิจอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานให้ง่ายขึ้น และยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งคู่ค้าและลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของผู้ใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของธนาคารได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจจะยังคงใช้จุดแข็งของการให้บริการลักษณะ Total Solution ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

เชื่อทุกแบงก์จ่ายปันผลปี 63 ได้ ผลงานเติบโต

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัดหรือ ASPS กล่าวว่า 8 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประเมิน พบว่าทุกธนาคารจะจ่ายปันผลงวดปี 2563 ได้ทุกแห่ง และมองภาพรวมกำไรของกลุ่มธนาคารปี 2564 คาดจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นราว 12% จากปี 2563 มาที่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท หลังแรงกดดันจากการตั้งสำรองน่าจะลดลง เพราะธนาคารต่างๆ ได้เพิ่มการตั้งสำรองไปมากในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของกลุ่มธนาคารยังอยู่ในระดับสูง 150-160% และยังมีเงินกองทุน (BIS ratio) ขั้นต่ำที่สูง 11-12% สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีความสามารถรองรับความเสี่ยงได้

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ ประเมินผลประกอบการของกลุ่มแบงก์จะเติบโต 13-14% ในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุน ROE ให้สูงขึ้นแตะ 6.5-7.0% ในปี 2564-2565 จาก 5.8% ในปี 2563 บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่าผลการดำเนินงานและผลประกอบการของธนาคารจะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2564 เป็นต้นไป เนื่องจาก NIM และต้นทุนสินเชื่อจะต่ำสุดในครึ่งแรกปี 2564 การอ่อนตัวของราคาหุ้นในช่วงนี้เป็นโอกาสเข้าสะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น