xs
xsm
sm
md
lg

โบรกเกอร์มองสินเชื่อแบงก์ปี 64 ยังโตต่อ ยก KBANK-BBL-KKP แจ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ประสานเสียงมองหุ้นแบงก์ปี 64 สดใส คาดสินเชื่อเดือน ธ.ค.โตต่อ รับภาคเอกชนเร่งเบิกจ่าย Motor Expo หนุน ส่วนปีหน้ารัฐเริ่มลงทุน หนุนสินเชื่อโตไม่หยุด ขณะที่ฟากกำไร 4/63 ฟื้น หลังตั้งสำรองผ่อนคลาย ให้น้ำหนัก “มากกว่าตลาด” เชียร์ KBANK-BBL-KKP

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยในบทวิเคราะห์รายวันว่า ภาพรวมสินเชื่อเดือน พ.ย.63 เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากสินเชื่อรายใหญ่และเช่าซื้อเป็นหลัก โดยมี KKP เพิ่มขึ้น 4.9% หลักๆ มาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่มาจากดีล IB ซึ่งจะเป็นเงินกู้ระยะสั้น และสินเชื่อเช่าซื้อยังเติบโตได้ +1.5% และ TMB สินเชื่อเติบโต 1.1% จากสินเชื่อรายใหญ่ ในขณะที่สินเชื่อหดตัวมีเพียง BBL ที่ -0.8% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อรายใหญ่

ขณะที่สินเชื่อรวมในช่วง 11 เดือนแรกปี 63 เพิ่มขึ้นได้ดีที่ 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการช่วยเหลือลูกหนี้ทำให้มีการชำระคืนหนี้ช้า โดยธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มมากที่สุดคือ KKP เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนจากสินเชื่อรายใหญ่ ส่วน TISCO ปรับตัวลดลงมากที่สุด -8.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะกลัว NPLs เพิ่มจึงปล่อยสินเชื่อลดลง

ส่วนภาพรวมของเงินฝากในเดือน พ.ย.63 อยู่ที่ระดับ 11.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 9.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนโยกเงินเข้ามาในเงินฝากที่มีความปลอดภัยสูง

ประเมินสินเชื่อ ธ.ค.63 โตดีถึงปี 64 รับการลงทุนภาครัฐ-เอกชน

คาดสินเชื่อเดือน ธ.ค.63 และปี 64 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อสินเชื่อในเดือน พ.ย.63 ที่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรายใหญ่และเช่าซื้อซึ่งคาดว่าจะมีโมเมนตัมบวกต่อในเดือน ธ.ค.63 เพราะเป็นช่วงเร่งลงทุนเบิกจ่ายของภาคเอกชน และมีงาน Motor Expo ช่วงวันที่ 2-13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินเชื่อเช่าซื้อต่อได้และยังจะโตได้ดีตามอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าจะหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้วตั้งแต่ ต.ค.63 แต่หลายธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลืออยู่ในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่ NPL คาดว่าจะเห็นการทยอยเร่งตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ส่วนด้านการตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 4/63 จะเริ่มเห็นทรงตัวและลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าได้ เพราะหลายธนาคารมีการตั้งเผื่อไปเยอะแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2-3/63 ส่งผลให้เราคาดว่ากำไรในกลุ่มธนาคารจะเห็นการเติบโตได้ในไตรมาส 4/63

มองกำไร Q4 ฟื้นหลังตั้งการสำรองลด-รายไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับขึ้น

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า คาดไตรมาส 4/63 กำไรฟื้นจากไตรมาสก่อนหน้า หลังตั้งการสำรองผ่อนคลายลง และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยับขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเรายังคงคาดกำไรในไตรมาส 4/63 ของแบงก์ไทยภายใต้ Coverage ของเราทั้ง 7 แห่งจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ จากการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง หลังระดับ Coverage Ratio ของแต่ละแบงก์ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับที่แข็งแรงกว่าช่วงต้นปี

อีกทั้งทิศทางการไหลตกชั้นของลูกหนี้ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย คาดจะเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้จะหมดอายุโครงการช่วยเหลือทางการเงินใน Phase 1 ไปแล้ว แต่แบงก์อาจพิจารณาต่ออายุให้แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพฟื้นตัวต่อไปได้จนถึงกลางปี 64 ส่งผลให้ลูกหนี้ที่จะเป็นหนี้เสียในปีนี้และต้นปีหน้ามีเพียงกลุ่มที่ไม่สามารถติดต่อได้ หรือเป็นหนี้เสียที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ต่ำแม้ ศก. ฟื้นตัวกลับมาดี ซึ่งคาดจะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ทำให้ NPL ในไตรมาส 4/63 โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.6-1% ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งตั้งสำรองในระดับสูงเหมือนใน 2 ไตรมาสก่อนหน้าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและกำไรจากการตีมูลค่าเงินลงทุน อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวบางส่วนคาดถูกหักล้างด้วยแนวโน้ม NIM ที่ปรับตัวลงตาม Asset Yield ที่มีโอกาสปรับลงต่อ จากการที่ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ใน Phase 2 จึงทำให้การฟื้นตัวของ NIM อาจต้องใช้เวลานานขึ้น

KTBS ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด”

KTBS มองการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” โดยปัจจุบัน Valuation เทรดที่ระดับเพียง 0.65x จากจุดต่ำสุดที่ 0.4x ขณะที่มี upside เพิ่มจากสำรองฯ ที่อาจลดลงได้หากเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่มีความเสี่ยงด้าน NPL ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดได้หากสถานการณ์ COVID-19 แย่ลง

ชอบหุ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะ valuation ที่ถูกกว่า โดยยังคงเลือก BBL เป็น Top pick ราคาเป้าหมายที่ 150.00 บาท อิง 2021E PBV ที่ 0.65x (-1.5SD below 10-yr average PBV) จาก 1.ความแข็งแกร่งด้านงบดุล 2.มีความเสี่ยงต่ำและมีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ดีจาก coverage ratio ที่สูงที่สุดในกลุ่มที่ระดับ 171% ทำให้มี downside ต่ำจากการสำรองฯ ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในปีนี้เหมือนธนาคารอื่นๆ

KBANK ราคาเป้าหมายที่ 130.00 บาท อิง 2021E PBV ที่ 0.73x (-1.75SD below 10-yr average PBV) จาก Valuation ที่ยังน่าสนใจ โดยปัจจุบันยังซื้อขายที่ระดับ 0.6x PBV ยังอยู่ในระดับต่ำที่ -2SD ขณะที่มีการตั้งสำรองฯ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 63 เผื่อไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว และหากวัคซีนมา KBANK น่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดเพราะมีสัดส่วนสินเชื่อที่อิงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 20%

หยวนต้าคงน้ำหนักลงทุน "มากกว่าตลาด"

ส่วน บล.หยวนต้า คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” เช่นกัน โดยมองเป็นหุ้นกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีในปี 64 หลังผ่านพ้นช่วงเร่งตั้งสำรองไปมากแล้ว และแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นในระดับที่บริหารจัดการได้ ขณะที่หากเกิดการระบาดครั้งใหม่เรามองว่าแบงก์จะไม่เร่งตั้งสำรองขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในไตรมาส 2/63 เพราะมีระดับ Coverage Ratio อยู่ในระดับที่แข็งแรงขึ้นจากเดิม

อีกทั้งปัจจุบันแบงก์มีข้อมูลของลูกค้าในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการติดตามและประเมินสถานะเพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยยังแนะนำ BBL ราคาเป้าหมาย 151 บาท เป็น Top Pick ของกลุ่ม คาดกำไรฟื้นตัวได้ดีเทียบกับแบงก์ใหญ่อื่นๆ หนุนด้วย 1.รวมงบของ Permata เข้ามาเต็มปีเป็นครั้งแรก 2.ฐานกำไรปี 2563 ที่ต่ำจากการเร่งตั้งสำรองก้อนใหญ่ และบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Permata ล่วงหน้า และ 3.พอร์ตสินเชื่อมีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่ม เนื่องจากมีสัดส่วนลูกหนี้ SME และรายย่อยต่ำ

ส่วนแบงก์ขนาดกลาง/เล็ก แนะนำ KKP ราคาเป้าหมาย 60 บาท มีปัจจัยบวกจาก 1.ยอดสินเชื่อเติบโตเด่นสุดในกลุ่มที่ 18.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.รายได้ค่าธรรมเนียมฝั่งตลาดทุนที่จะปรับตัวดีขึ้น หลัง IPO ดีลใหญ่เลื่อนไปเป็นปี 64 และคาดพอร์ตสินเชื่อยังเติบโตได้ดีสอดคล้องกับยอดขายยานยนต์ในประเทศที่ดีขึ้น และ 3.มีปัจจัยบวกจากการจ่ายเงินปันผลภายใต้ข้อกำหนดของ ธปท. ที่โดดเด่นกว่ากลุ่ม คาด Div.Yield ปี 63 ที่ 6.8%


กำลังโหลดความคิดเห็น