ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งกำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยปี 2563 มีจำนวน 17,181 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 52% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากปี 2562 มาอยู่ที่ 77,047 ล้านบาท เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง สาเหตุหลักจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุน จากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 หลักๆ จากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 55.6
พร้อมกันนั้น ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 31,196 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 181.6 เป็นการเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่ (New Normal)
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,363,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.9 โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,810,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ส่วนใหญ่จากเงินรับฝากออมทรัพย์ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.1 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.3 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate : EIR)
และจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ธนาคารจึงยังคงติดตามสถานการณ์และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพได้ต้อนรับธนาคารเพอร์มาตาในประเทศอินโดนีเซียเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารในปี 2563 โดยได้เข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตาทั้งสิ้นร้อยละ 98.71 และได้ดำเนินการรวมสาขาของธนาคารกรุงเทพในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ทำให้ธนาคารเพอร์มาตาเป็น 1 ใน 10 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารในการเสริมสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน