นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคาร และบริษัทย่อยที่ยังมิได้ตรวจสอบสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 14,927.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2562 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นร้อยละ 153.6 ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงร้อยละ 5.6 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงร้อยละ 39.9 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เป็นจำนวน 6,027.8 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ร้อยละ 1.1 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 5.1
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิลดลงจำนวน 727.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 36 เป็นจำนวน 1,290.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ซึ่งสะท้อนถึงการตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อของลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในจำนวนนี้ธนาคารได้คำนึงถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าของโมเดลการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) และการตั้งสำรองเพื่อรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคที่ถดถอยผ่านกระบวนการ management overlay ภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9
รายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 14,927.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 167.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2562 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่นจำนวน 1,654.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 153.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนจำนวน 1,117 ล้านบาท สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 834.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.9 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการชำระค่าสินค้าและบริการและรายได้จากการเป็นนายหน้าขายประกัน และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 652.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2562 ลดลงจำนวน 478.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 59.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2562 อยู่ที่ ร้อยละ 63.5
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) สำหรับปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน
วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 227.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 251.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากสิ้นปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 241.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 90.3 จากร้อยละ 100.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 10.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2563 ประกอบกับธนาคารมีมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และการติดตามหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 93.3 ลดลงจากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 99.0 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.1 พันล้านบาท
และเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 54.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21.4 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.6