รฟท.เร่งแบ่งกลุ่มที่ดินและสัญญาเช่า เตรียมโอนงานให้บริษัทลูกทรัพย์สิน คาดจดทะเบียนจัดตั้งได้ใน 2 เดือน ส่วนแปลง A ต้องล่มรอบ 2 หลังไร้เงาเอกชนซื้อซอง “นิรุฒ” รับลูก “ศักดิ์สยาม” ปรับแนวคิดออกแบบ รื้อแผนประมูลที่ดิน 9 แปลงย่านพหลโยธิน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน รฟท.ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายชื่อกรรมการเพื่อดำเนินการยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง จำนวน 9 คน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดสรรบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถจดทะเบียนได้ภายใน 2 เดือน โดยใช้ชื่อบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หลังจัดตั้งบริษัทลูกทรัพย์สินแล้วจะมีการสรรหากรรมการผู้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ซีอีโอ) ต่อไป
ในระหว่างนี้ รฟท.ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลสำหรับการโอนงานให้บริษัทลูกทรัพย์สิน เช่น จำแนกที่ดินและสัญญาแต่ละประเภทเป็นหมวดหมู่ สถานะของแต่ละสัญญา ซึ่งข้อมูลเรื่องที่ดิน สัญญาเช่าต่างๆ ของ รฟท.มีจำนวนมาก ต้องจัดกลุ่มให้ชัดเจนรวมถึงระยะเวลาหรือไทม์ไลน์ในการถ่ายโอนไปยังบริษัทลูกซึ่งจะต้องมีแผนปฏิบัติ (Action Plan) แต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เบื้องต้นมีประมาณ 5-6 กลุ่ม เช่น ที่ดินที่ไม่มีปัญหา มีสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าครบ, ที่ดินสัญญาใกล้หมดอายุ, ที่ดินหมดอายุแล้วแต่ยังไม่ต่อสัญญา, ที่ดินบุกรุก, ที่ดินมีคดีการฟ้องร้อง, ที่ดินพิพาทหรือทับซ้อนหรือต้องพิสูจน์ เป็นต้น
“ที่ดินรถไฟและสัญญาต่างๆ จะต้องโอนให้บริษัทลูกทั้งหมด เพราะวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทลูกเพื่อต้องการให้มืออาชีพเข้ามาบริหารทรัพย์สินของรถไฟเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ รฟท. เพราะที่ผ่านมาการบริหารของ รฟท.อาจจะมีติดขัดเรื่องกระบวนการภายใน ขณะที่บริษัทลูกจะมีความคล่องตัวมากกว่า”
ในส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 2,325 ไร่ ซึ่งมีแบ่งออกเป็น 9 แปลงนั้น นายนิรุฒกล่าวว่า มีการศึกษาโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) หากเป็นไปได้จะให้บริษัทลูกดำเนินการ ซึ่งนโยบาย รมว.คมนาคมให้เร่งดำเนินการพร้อมกันทั้ง 9 แปลง ต่างจากแผนเดิมที่จะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาความเหมาะสม เนื่องจากการประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่พาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปิดขายซองเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ไม่มีเอกชนมาซื้อซองเลย โดยต้องพิจารณาแนวคิดการออกแบบ การใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ตามมติ ครม.กำหนดบริษัทบริหารทรัพย์สินมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ รฟท.กู้ยืมเงินจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียนโดยที่ รฟท.รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน รวมถึงพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม
ปัจจุบัน รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถจำนวน 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของมูลค่าสินทรัพย์