ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งปิดสถานีหัวลำโพง ทันที!!! เมื่อมีการเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการเปิดให้บริการ “สถานีกลางบางซื่อ” ซึ่งตามกำหนดคือภายในเดือน พ.ย. 2564 โดยยืนยันนโยบายชัดเจนว่าจะต้องไม่มีรถไฟวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงอีก ภายใต้เหตุผลคือจะสามารถแก้ปัญหาจราจรภายในกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีจุดตัดทางรถไฟกับถนนได้ตามเป้าหมาย ขณะที่สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศตามวัตถุประสงค์
“เปิดบางซื่อ....ต้องไม่มีหัวลำโพง”
ย้อนประวัติศาสตร์สำหรับคนไทย...คงไม่มีใครไม่รู้จักสถานีหัวลำโพง หรือชื่อทางการ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2459 นับเป็นเวลายาวนานถึง 105 ปีแล้ว โดยมีพื้นที่ 120 ไร่เศษ ตั้งอยู่ห่างจากสถานีเดิมซึ่งอยู่บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเริ่มการก่อสร้าง และเปิดเดินรถไฟหลวงไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร
สถานีหัวลำโพงกลายเป็นศูนย์การเดินทางหลักของคนไทยในทุกๆ เทศกาล จะเห็นภาพชินตาที่ประชาชนจำนวนมากหอบหิ้วสัมภาระแน่นเต็มพื้นที่ ผู้คนทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจมานั่งรถไฟไทย สัมผัสบรรยากาศวินเทจสุดคลาสสิก
สำหรับกระแสการปิดสถานีหัวลำโพงนั้นมีมาตลอดตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ที่วางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศแทนที่หัวลำโพง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการศึกษาแผนการลงทุนพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง 120 ไร่ เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟระดับโลก ต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์รถไฟไทย
ส่วนการเดินรถนั้น ตามแผนเดิม เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดใช้งานในปี 2564 ช่วงแรก รฟท.จะยังไม่ย้ายขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถชานเมืองที่ออกจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด แต่จะพิจารณาให้ขบวนรถที่มีความพร้อมไปเปิดใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อก่อน โดยสถานีหัวลำโพงจะเปลี่ยนสถานะจากสถานีรถไฟหลัก เนื่องจากจะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพน้อยลง แต่ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา
@ไม่ปลื้มแผนเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกล “ศักดิ์สยาม” ขีดเส้น พ.ย. 64 ต้องปิดหัวลำโพง
รฟท.ได้รายงานแผนการเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลจากสถานีหัวลำโพงสู่สถานีกลางบางซื่อ หลังการเปิดเดินรถสายสีแดงในเดือน พ.ย. 2564 ว่า ปัจจุบันมีขบวนรถโดยสารเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง 120 ขบวน/วัน แบ่งเป็นสายใต้ 28 ขบวน/วัน, สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ 66 ขบวน/วัน, สายตะวันออก 26 ขบวน/วัน
ซึ่งตามแผนเดิมจะทยอยปรับให้ขบวนรถไปใช้สถานีกลางบางซื่อจนถึงปี 2570 จะไม่มีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง แต่ รมว.คมนาคมให้ รฟท.ปรับให้เร็วขึ้นอีก
แผนล่าสุด ในปีแรกที่สายสีแดงเปิดให้บริการ (พ.ย. 2564) จะลดขบวนรถชานเมืองสายเหนือ สายใต้ ที่เข้าสถานีหัวลำโพงลงได้ 30 ขบวน/วัน โดยให้จอดที่สถานีรังสิต และบางบำหรุ โดยจะเหลือรถเข้าสถานีหัวลำโพง 90 ขบวน/วัน
ภายในปี 2565 จะสามารถลดขบวนรถเชิงพาณิชย์ สายเหนือ สายอีสาน ได้อีก 68 ขบวน/วัน ทำให้เหลือขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงอีก 22 ขบวน/วัน ส่วนสายใต้จะจอดที่บางซื่อ (เก่า) ส่วนหนึ่ง และจอดที่สถานีกลางบางซื่ออีกส่วนหนึ่ง
ปัญหาอยู่ที่สายตะวันออก 26 ขบวน/วัน ที่มีผู้โดยสารประมาณ 3.5 ล้านคน/ปี มี 2 แนวทาง คือ 1. ใช้สถานีหัวหมากเป็นปลายทาง หรือจะยังคงวิ่งเข้าหัวลำโพง เพื่อไม่ให้ผู้โดยสาร 3.6 ล้านคน/ปีได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหาของสายตะวันออกคือ จำเป็นต้องวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะยังสามารถวิ่งไปยังสถานีกลางบางซื่อได้โดยตรง ซึ่งตามแผนจะมีการเปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก (missing link) โดยประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี
สำหรับปี 2566 ตามเป้าหมายคือจะไม่มีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงแล้ว ดังนั้น เส้นทางสายตะวันออกจะต้องหยุดที่หัวหมากทั้งหมดแน่นอน โดย รฟท.จะต้องหาระบบขนส่งอื่นเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อไปยังปลายทางหัวลำโพงหรือสถานีกลางบางซื่อ
“ศักดิ์สยาม” ยังไม่ปลื้ม ขีดเส้นปี 2564 รถเข้าสถานีหัวลำโพงต้องเป็น “ศูนย์” มั่นใจว่าต้องมีวิธี หากรถไฟบางขบวนจำเป็นต้องจอดรอบนอกก็ต้องไปหาระบบฟีดเดอร์มารับส่งผู้โดยสารแทน
“ทำไมสนามบินสุวรรณภูมิอยู่จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ได้อยู่กลางเมืองผู้โดยสารยังไปได้ ไม่เห็นต้องมาอยู่ในใจกลางเมือง เรื่องนี้อยู่ที่วางระบบฟีดเดอร์ ขสมก. รถเมล์ อยู่กระทรวงคมนาคม กรณีที่ไม่ไหวจริงๆ มีขบวนรถที่จำเป็นต้องเข้าหัวลำโพงให้ได้ เช่น มาโรงซ่อม มาเติมน้ำมัน ให้วิ่งเข้าได้ช่วงเวลากลางคืน ระหว่าง 22.00-04.00 น.เท่านั้นที่ผมรับได้ อย่าวิ่งตอนกลางวัน เพราะจะเป็นปัญหาการจราจรที่จุดตัดถนน...ผมเชื่อว่า รฟท.ทำได้ เพราะเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ยังปรับแผนจากปี 70 เหลือปี 66 ได้ หายไป 4 ปี ดังนั้นให้ไปทำใหม่ พ.ย. 64 ทุกเรื่องมาอยู่บางซื่อ”
“ไม่มีเรื่องใดที่ไม่มีผลกระทบ โดยต้องนำผลกระทบมาชั่งน้ำหนัก หากสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หากไม่เปลี่ยน รฟท.ก็จะเป็นแบบนี้”
ไม่เช่นนั้นจะตอบคำถามไม่ได้ว่าสร้างบางซื่อใหญ่โตเอาไว้ทำไม เรื่องนี้อยู่ที่วิธีการบริหารจัดการ ให้ได้ข้อสรุปและทำแผนใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อตัดสินใจ และเสนอนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ให้ รฟท.ไปคิดว่าเส้นทางเข้าหัวลำโพง เมื่อไม่มีรถไฟวิ่งไปแล้วจะนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างไร เช่น ทำเป็นทางวิ่งสำหรับออกกำลังกาย ส่วนพื้นที่ข้างทางจะปรับปรุงเพื่อพื้นที่ค้าขาย โดยมีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย และสะอาด เป็นต้น ส่วนสถานีหัวลำโพงจะปรับปรุงเป็นแลนด์มาร์กและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และรักษาพร้อมกับการพัฒนา ให้ รฟท.ศึกษาคือทำอย่างไรให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า นโยบายของ รมว.คมนาคม คือ หลังเปิดสถานีกลางบางซื่อในเดือน พ.ย. 2564 จะปิดให้บริการที่สถานีหัวลำโพง โดย รฟท.จะเร่งวางแนวทางในการบริหารจัดการรถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล หลักการคือจะไม่มีรถโดยสารเข้าไปถึงสถานีหัวลำโพงเดือน พ.ย. 2564 แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องโรงซ่อม การเติมน้ำมันรถจักร ที่จะยังต้องเข้ามาที่สถานีหัวลำโพง จะต้องปรับตารางเวลาในการให้เข้ามาได้ช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรบริเวณจุดตัดกับถนนตามนโยบาย
เบื้องต้นรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ สามารถปรับแผนการเดินรถเข้าสถานีกลางบางซื่อได้ ส่วนเส้นทางสายตะวันออกยังมีปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากยังต้องเดินรถเข้ามายังหัวลำโพงเพราะเส้นทางยังไม่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ดังนั้น รฟท.จะต้องหาแนวทางดูแลผู้โดยสารกรณีตัดเส้นทางหยุดที่สถานีมักกะสัน ซึ่งประเมินว่าจะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบประมาณ 3,000 คน/วัน
โดยจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาระบบฟีดเดอร์ บริการทดแทน และไม่ควรทำให้ผู้โดยสารมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วย
ส่วนสถานีหัวลำโพงจะนำไปใช้ทำอะไรนั้น มีการศึกษาไว้เมื่อปี 2555-2556 ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ให้นำผลการศึกษาเดิมมาพิจารณาทบทวนเพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะสมกับปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการใช้ประโยชน์บนแนวเส้นทางรถไฟช่วงที่เข้าสู่สถานีหัวลำโพงหลังจากไม่มีการเดินรถไฟแล้วเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่น บริเวณสามเสน จิตรลดา เป็นต้น
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้จะหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน แต่จะต้องมีผลกระทบอยู่อีก เหมือนตอนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะต้องปิดสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นก็มีผลกระทบ แต่ต้องยอมรับและปรับตัว ดังนั้น เมื่อเปิดบางซื่อเป็นสถานีกลาง แล้วยังมีหัวลำโพงด้วยก็อาจจะไม่ใช่ เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่เมื่อมีนโยบายชัดเจน รฟท.ต้องดำเนินการ และดูแลเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชน”
@ทุ่มกว่า 500 ล้าน ติดระบบ ATP หัวรถจักร 70 คัน
สำหรับการเดินรถไฟทางไกลร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น รถจักรของ รฟท.จะต้องติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถ ETCS Level 1 โดยจะต้องเร่งติดตั้งระบบป้องกันความผิดพลาดของการเดินรถ (Automatic Train Protection : ATP) บนหัวรถจักรปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบควบคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะเบรกอัตโนมัติตามมาตรฐานระบบอาณัติสัญญาณ ETCS ซึ่งปัจจุบันติดตั้งเสร็จแล้ว 2 คัน
นอกจากนี้ จะต้องเร่งติดตั้ง ATP ในหัวจักรที่มีเพื่อรองรับการใช้สถานีกลางบางซื่อ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจำนวน 120 คัน ประกอบด้วย การติดตั้งระบบ ATP กับหัวรถจักรที่มีอยู่จำนวน 70 คัน อยู่ระหว่างการประมูล วงเงินกว่า 500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2564-2566)
และจะมีหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คัน มูลค่า 6,525 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.ได้เซ็นสัญญากับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ (บริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ให้เป็นผู้จัดหา จะมีการติดตั้งระบบ ATP มาพร้อมด้วย โดยจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ต้นปี 2565
ส่วนในเฟสที่ 2 จะเป็นหัวรถจักรที่มีการปรับปรุงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อีกประมาณ 57 คัน จะมีการติดระบบ ATP ต่อไป
@ สีแดงเปิดเชิงพาณิชย์ พ.ย. 64 ค่าโดยสาร 14-42 บาท
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกำหนดการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เริ่มช่วงเดือนมีนาคม 2564 ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยประมาณการอัตราค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงรังสิตไม่เกิน 42 บาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงตลิ่งชันไม่เกิน 42 บาท เช่นกัน อีกทั้งในอนาคตจะพัฒนาระบบตั๋วโดยสารร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการด้วย
คำสั่งหักดิบ...ปิด...ชัตดาวน์ “หัวลำโพง” ต้องยอมรับว่าประชาชนที่เคยใช้บริการรถไฟ โดยเฉพาะรถชานเมือง ชั้น 3 ที่ราคาค่าตั๋วถูก แม้จะไปช้าหน่อย สภาพรถไม่สวยงาม แต่ก็ถึงจุดหมายปลายทาง ...ตั้งแต่ พ.ย. 2564 คงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการเดินทางกันใหม่ เพราะจะไม่มีรถไฟวิ่งเหมือนเดิมแล้ว ส่วนหัวลำโพง...จะเหลือเพียงภาพจำถึงตำนานความยิ่งใหญ่ของรถไฟไทยในอดีต...เท่านั้น!!!