กระทรวงพลังงานคิกออฟระดมสมองคนรุ่นใหม่เตรียมจัดทำแผนพลังงานชาติรวบทุกแผนไว้ในแผนเดียวรับมือโควิด-19 ทำทุกสถานการณ์เปลี่ยน เตรียมปักหมุดไทยจะเป็นสังคมไร้คาร์บอนด์เมื่อใด เตือนทุกฝ่ายให้พร้อมอีวีมาแน่ 5-10 ปีข้างหน้า “สศช.” ชี้ช่อง สายส่ง โรงกลั่น ไบโอดีเซล เอทานอล ต้องปรับก่อนวิกฤต “สมโภชน์” ชงรัฐตั้งกองทุนพลังงาน 2 ล้านล้าน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมระดมสมอง (เวิร์กชอป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม บมจ.ปตท. เพื่อคิกออฟการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ที่มีเป้าหมายจัดทำแผนระยะสั้น 5 ปี (ปี 2565-70) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และยาว 20 ปี หลังจากมีการจัดทำรายละเอียดแล้วจะมีการจัดสัมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเดือนมีนาคม 2564 และเมษายน 2564 จะเห็นแผนที่ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป
“การคิกออฟได้ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนดังกล่าวขึ้นซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อ 20 ต.ค. 2563 ที่มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานที่มี 5 แผนรวมเป็นแผนเดียวเพื่อให้เป็นเอกภาพและรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 และให้มีเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาวเพื่อให้แผนแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นปรับได้และรองรับยุคดิจิทัล ทั้งด้านภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนไป” นายกุลิศกล่าว
สำหรับแผนดังกล่าวจะต้องนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ซึ่งไทยจำเป็นต้องปักหมุดว่าจะเป็นปีใดหลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2050 (ปี พ.ศ. 2593) จีนปี 2060 เป็นต้น ขณะเดียวกัน แผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573 โดยเทรนด์ของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และพลังงานหมุนเวียน (RE) มาแน่นอน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ดังนั้น การจัดทำแผนจะทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซฯ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรด้วย
นายกุลิศกล่าวว่า แผนพลังงานฯ ที่จะจัดทำใหม่นั้นจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และขณะเดียวกันจะพิจารณปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% อย่างไรก็ตาม สำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 หากพิจารณาที่อนาคตจะมีรถอีวี รถไฟฟ้า 13 สาย การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟสูงขึ้นได้ สำรองนี้อาจไม่เป็นปัญหาก็ได้ในระยะต่อไป ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากก็ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ก่อน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ 6 เดือนแรกของปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะวัคซีนยังคงไม่มาประเทศไทย แม้บางประเทศจะเริ่มฉีดแล้วก็ตาม โดยพลังงานรัฐจะต้องชัดเจนซึ่งยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีมาแน่นอน ดังนั้น หากนโยบายชัดเจนในอีก 5 ปีข้างหน้า อีวีจะเกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรถยนต์สันดาปภายในได้ แต่คาดว่า 10 ปีจะก้าวไปสูอีวีทั้งหมด และแบตเตอรี่ (ESS) ที่ราคาเริ่มลดลงเรื่อยๆ ในที่สุดจะถึงจุดที่คนเข้าถึง ดังนั้นจึงต้องฝากกระทรวงพลังงานดูว่าโรงกลั่นจะเหลือน้ำมันชนิดใด สายส่งจะต้องปรับไปสู่สมาร์ทกริด ซึ่ง 3 การไฟฟ้าไม่ควรจะลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันและไม่ควรลงทุนในรูปแบบเดิม
“น้ำมันคิดว่าน่าจะเหลือแค่น้ำมันเครื่องบิน และดีเซลในส่วนของรถบรรทุก แต่เรายังไม่แน่ใจว่าอนาคตรถบรรทุกไปสู่รถไฟฟ้าอย่างไร ขณะที่พลังงานหมุนเวียนเองหากมีแบตเตอรี่ก็จะทำให้มั่นคงมากขึ้น โรงไฟฟ้าใหม่จะเกิดน้อยลง ระบบการซื้อขายไฟจะเปลี่ยนไปจึงอยากให้กระทรวงพลังงานรีบคิดตั้งแต่วันนี้จะเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างไร ขณะที่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) คนจะใช้น้อยลงจนไม่เหลือใช้ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะมีบทบาทมากขึ้น เราควรจะดูก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลง ควรนำไว้ใช้ทำปิโตรเคมี และนำ LNG ที่มีราคาต่ำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟแทน” นายดนุชากล่าว
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้เสนอรัฐให้จัดตั้งกองทุนพลังงานสร้างชาติ 2 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นเงินที่นำมาจากการประหยัดนำเข้าน้ำมันที่คาดว่าจะมีปีละ 1 แสนล้านบาท โดยปรับจากการใช้รถน้ำมันเปลี่ยนมาเป็นอีวี 100% และกองทุนดังกล่าวก็ควรจะมาจากการออกพันธบัตรของรัฐบาล 30 ปี ซึ่งกองทุนฯ ส่วนนี้แยกเป็นนำมาผลักดันอีวี และวางโครงสร้างพื้นฐานอีวี 2 แสนล้านบาท ที่เหลือ 1.8 ล้านล้านบาทนำไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ รวมทั้งส่วนหนึ่งนำไปเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
“โรงกลั่นฯ ก็ต้องปรับตัวไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง เอทานอล และไบโอดีเซล จะได้รับผลกระทบจะเร็วหรือช้าก็ตาม ดังนั้นก็ต้องปรับไปสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพ อาทิ Oleochemicals ขณะที่พืชพลังงานก็เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก” นายสมโภชน์กล่าว