xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลุยปรับองค์กรรับโลกเปลี่ยน ปักหมุดลุยธุรกิจใหม่เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ กฟผ.คนที่ 15 ประกาศแนวทางขับเคลื่อน กฟผ.รับ New Normal วาง 3 แนวทางบริหารปรับองค์กร 1. ทำสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ลุยลงทุน 1 ล้านล้านสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง 2. เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิมทั้งต่อยอดธุรกิจ LNG รุกซื้อหุ้นแหล่งผลิต ซื้อขายไฟ ตปท. และ 3. เติบโตในธุรกิจใหม่ปักหมุด EV

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 15เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารงานของ กฟผ.ว่า กฟผ.ได้วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุค New Normal โดยตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร (Energy Solutions Provider) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างซึ่งจะมุ่งเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ทำสิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2. เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิม และ 3. เติบโตในธุรกิจใหม่

“อีก 10 ปีข้างหน้ามีการมองว่าพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลทั้งหมดหากเป็นเรื่องจริงก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก กฟผ.จึงต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิด EGAT for All หรือ กฟผ.เป็นของทุกคน ซึ่ง ปี 2563 การใช้ไฟคาดว่าลดลงประมาณ 3% และปี 2564 จะเติบโต 4% สำรองไฟที่ขณะนี้มองว่าสูงกว่า 30% ปัญหานี้จะลดลงอย่างแน่นอน” นายบุญญนิตย์กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่มุ่ง 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ทำสิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ การมุ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev1.) ภายใต้แผนนี้ กฟผ.จะพัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบส่งคิดเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น โรงไฟฟ้า 60% และสายส่ง 40% อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากจะต้องรอการปรับปรุงแผนพลังงานจากกระทรวงพลังงานอีกครั้ง โดยโรงไฟฟ้าหลักใหม่ที่ กฟผ.จะลงทุนมี 8 แห่งตามแผนจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป รวมกำลังผลิต 6,150 เมกะวัตต์ และโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริด 16 โครงการ 2,725 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ.มุ่งที่จะพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าในการก้าวสู่โรงไฟฟ้าดิจิทัล โดยจะนำร่องที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ พัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบผสมผสาน ส่วนระบบส่งจะพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานของภูมิภาคโดยขยายระบบสายส่ง 230 kV. และ 500 kV. พร้อมกันนี้จะมุ่งพัฒนาระบบส่งด้วยการพัฒนาสร้างศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) มุ่งสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้ายืดหยุ่น ฯลฯ

2. การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิมประกอบด้วย การซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับกัมพูชาที่จะมีการซื้อไฟจำนวน 300 เมกะวัตต์ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาปรับค่าสายส่ง นอกจากนี้จะพิจารณาธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมกว่า 5 ล้านตัน (แผน 3 ปี) และจะมุ่งไปสู่ธุรกิจต้นน้ำด้วยการพัฒนาโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพฯ แบบลอยน้ำ (FSRU) ในอ่าวไทยตอนบนคาดว่าไตรมาสแรกปี 64 จะขอ ครม.อนุมัติแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อหาผู้รับเหมาะก่อสร้าง ขณะเดียวกัน มองไปยังการถือหุ้นแหล่งผลิต LNG ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่โดยภายใน 4 ปีจากนี้จะก้าวไปต้นน้ำของสาย LNG ได้ นอกจากนี้ยังมองธุรกิจบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ

3. เติบโตในธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกอบด้วย การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยปี 2564 จะลงทุนให้ครบ 31 แห่ง รวมถึงเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) ซึ่งจะติดตั้งที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง (พลังงานลม) และโรงไฟฟ้าโซลาร์ทับสะแก, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เป็นต้น

“เรามองหาโอกาสศักยภาพใหม่ๆ เช่น การศึกษาตั้งโรงกำจัดซากแผงโซลาร์ที่อนาคตจะมีมากขึ้น และเราก็จะทำงานร่วมกับ 3 การไฟฟ้าให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือกับ บมจ.ปตท.ได้ศึกษาและจะเสนอกระทรวงพลังงานก่อสร้าง FSRU ในภาคใต้เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าภาคใต้ เป็นต้น” นายบุญญนิตย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น