xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ชูแผนพัฒนานวัตกรรมไฟฟ้า 5-10 ปี หวังต่อยอดธุรกิจใหม่รับโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟผ.กางแผนรุกสู่ธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานชู EGAT Smart Energy Solution ระยะ 5-10 ปีเพื่อปรับองค์กรรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ดึงงานวิจัยต่อยอดธุรกิจ วางเป้าหมายปั้นสตาร์ทอัพสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” ให้แก่ไทย

เมื่อ 8 ธ.ค. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีเปิดงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 ภายใต้แนวคิด “EGAT Smart Energy Solutions” บูรณาการด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.เป็นประธาน ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นางวีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเสวนาในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 ว่า พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงพลังงานทดแทน ทำให้ กฟผ.จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สิ่งใหม่ๆ ควบคู่ไปกับธุรกิจดั้งเดิมโดยวางแนวทางสู่ EGAT Smart Energy Solution ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะที่หลากหลายมาใช้ในการพัฒนาที่มุ่งตอบโจทย์ 5 มิติ ได้แก่ 1. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 2. ระบบส่งไฟฟ้า 3. ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ 4. พลังงานหมุนเวียน และ 5. ระบบรถไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรเดินหน้าอย่างยั่งยืนในอนาคต

“EGAT Smart Energy Solution เรามีแผนงานที่ได้เริ่มแล้วในปีนี้และจะต่อเนื่องอีก 5-10 ปีข้างหน้าเพื่อเป็นภาพอนาคตของ กฟผ.ที่จะรองรับรับการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยี วิกฤตการณ์เศรษฐกิจต่างๆ และทิศทางพลังงานที่เปลี่ยนไป” นางวีนัสกล่าว

สำหรับมิติความมั่นคง กฟผ.มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงและมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ในการสร้างธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ระบบส่งไฟฟ้า มุ่งขยายการเชื่อมต่อระบบส่งกับเพื่อบ้านเพื่อทำ Energy Trading ในภูมิภาค เสริมการลงทุนระบบส่งให้รองรับความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขณะที่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid จะพัฒนาศูนย์บริหารโหลดพลังงานหมุนเวียน หรือ RE Control Center และTrading Platform

ทั้งนี้ ในมิติว่าด้วยพลังงานหมุนเวียน กฟผ.จะมุ่งเน้นการเสริมคุณภาพชีวิตของวิสาหกิจชุมชนด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาต้นแบบที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ (MW) ประเภทชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 MW ประเภทโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจรองรับผู้ใช้ไฟหลังมิเตอร์เพื่อรองรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าภายในชุมชน

นางวีนัสกล่าวว่า มิติว่าด้วยรถบรถไฟฟ้า (EV) จะส่งเสริมการใช้ EV เพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ กฟผ.กำลังเร่งวิจัยและพัฒนา และการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าโดยผู้บริโภค (Prosumer) รวมไปถึงการศึกษาและเตรียมการพัฒนาธุรกิจ Waste to Value เพื่อกำจัดแผงโซลาร์ และแบตเตอรี่ (ESS)

“กฟผ.ได้วิจัยและพัฒนาเรือกำจัดวัชพืชลอยน้ำ เพื่อแก้ไขวัชพืชกีดขวางทางน้ำ ณ เขื่อนภูมิพล ซึ่งจะนำไปสุ่การผลิตเพื่อใช้ในแหล่งน้ำต่างๆ ต่อไป ได้ร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาและวิจัย การกำจัดซากแผงโซลาร์ และ ESS รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่เพื่อให้เข้าถึงชุมชนง่ายขึ้นในบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้าน้ำพอง เป็นต้น งานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้เราหวังปรับสังคมจากการบริโภคเป็นผลิตเองใช้เอง จากนั้นก็จะขยายสู่เพื่อนบ้านโดยร่วมมือกับพันธมิตร” นางวีนัสกล่าว


นายสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. กล่าวว่า ไทยขณะนี้ยังไม่มีธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่เป็นระดับยูนิคอร์น (Unicorn ) หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง กฟผ.มีเป้าหมายที่จะมีส่วนในการเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างยูนิคอร์นให้ไทยเกิดขึ้น เนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาของไทยมีจำนวนมากแต่ยังขาดการบริหารจัดการหรือการมีผู้กำกับที่ดี

“ล่าสุด กฟผ.ได้เปิดตัวอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทาง ภายใต้แบรนด์ Wallbox โดย ร่วมกับบริษัท Wallbox Chargers SL. ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของสเปนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่มีขนาดเล็กสำหรับติดตั้งภายในอาคารหรือที่อยู่อาศัย โดยจะนำเข้าอุปกรณ์ชาร์จฯ มาให้บริการในไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง กฟผ.เป็นผู้ได้รับสิทธิในการให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ของ Wallbox เพียงรายเดียวในประเทศไทย” นายสมชายกล่าว

สำหรับงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 ผู้ร่วมงานยังสามารถชมผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอีกกว่า 30 ผลงาน รวมถึงชมนิทรรศการยานยนต์ไฟฟ้า กฟผ.หลายประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง กฟผ.-สวทช. (รถ i-EV) รถบัสโดยสารไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เห็นว่าการใช้พาหนะ EV สามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้พลังงานสะอาดที่จะช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยลดมลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น