ส่อง “ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย” (UPA) ในวันที่รายใหญ่กระโดดร่วมวงเข้าถือหุ้น พบรายย่อยแห่ร่วมวงหนุนราคาดีดตัว ทั้งที่ก่อนหน้าแม้ได้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่องแต่ราคาไม่ขยับ จับตาทิศทางในอนาคตผู้บริหารเชื่อปีนี้มีลุ้นเทิร์นอะราวนด์ จริงแท้แค่ไหนกาลเวลาพิสูจน์ หลังขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีจนหุ้นเหลือไม่ถึง 1.00 บาท
จากราคาหุ้นที่พุ่งทะยานเมื่อปี 2557 ถึงระดับ 8.68 บาทต่อหุ้น ต่อมาแค่ 2 ปีเหลือไม่ถึง 1.00 บาท และหดต่ำลงมากว่า 50 สตางค์ในช่วงปี 2560 ไม่เท่านี้ปีที่แล้วยังเคยลงต่ำกว่า 1 สลึงเมื่อปีก่อน และทุกวันนี้ใครที่ถือหุ้นอยู่คงหวังการเทิร์นอะราวนด์ขั้นแรกที่ 0.25 บาทต่อหุ้นให้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด สำหรับ บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) หรือในชื่อเดิม บมจ.ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ (CYBER)
ต้องยอมรับว่า สตอรี่ของบริษัทมีออกมาทักทายนักลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ได้หนีหายไปจากหน้ากระดาษหรือเว็บไซต์ข่าวการลงทุน พร้อมย้ำชัดทุกรอบมาหลายปีว่าเริ่มเข้าสู่การเทิร์นอะราวนด์ของธุรกิจ แต่ที่เพิ่งทำให้ราคาหุ้นร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาหนีไม่พ้น การเข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “วิชัย วชิรพงศ์” หรือ “เสี่ยยักษ์” นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งได้แจ้งในแบบรายงาน 246-2 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงการได้มาซื้อหุ้น UPA เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นบิ๊กล็อตผ่านตลาดหลักทรัพย์จาก “แคทรียา บีเวอร์” อดีตนางแบบชื่อดัง จำนวน 1,300 ล้านหุ้น หรือ 12.8327% ในราคาหุ้นละ 16 สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 208 ล้านบาท
ข่าวการเข้าถือหุ้น UPA ของ “เสี่ยยักษ์” ทำให้เกิดแรงซื้อโหมเข้ามาในหุ้นตัวนี้ จนราคาพุ่งขึ้นไปปิดที่ 26 สตางค์ เพิ่มขึ้น 6 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 30% มูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้น 219.33 ล้านบาท จากก่อนหน้าซื้อขายวันละไม่กี่ล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ตัวหุ้นด้วย เพราะนักลงทุนต่างเชื่อว่าเมื่อรายใหญ่กระโดดเข้ามาลงทุน หรือนั่นเพราะอาจมองเห็นทิศทางการเติบโตในอนาคตของบริษัท แม้ปัจจุบันฝั่งฝันดังกล่าวยังไม่อาจมองเห็นได้ง่ายๆ
แต่สิ่งที่แน่ชัดคือเมื่อ ชื่อของเสี่ยยักษ์ปรากฏ หุ้น UPA กลับพุ่งทะยานชนเพดาน 30% ทั้งที่หุ้นตัวนี้มีสภาพเป็นหุ้นตายซากมาหลายปี ที่ผ่านมา มีแมลงเม่าเซ่นสังเวยหุ้นตัวนี้จำนวนมาก เพราะมีการสร้างข่าวดีกระตุ้นราคาหุ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2557 ซึ่งมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อป้อนไฟฟ้าให้นิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย ประเทศพม่า
ราคาหุ้น UPA เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 8.68 บาท ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนโครงการต้องพับลง เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ หลังจากนั้น ราคาหุ้น UPA ดิ่งลง จนเหลือไม่กี่สตางค์ ขณะที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของบริษัท เป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเสี่ยยักษ์ จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 7,534 ราย และส่วนใหญ่น่าจะติดหุ้นตัวนี้อยู่
ที่ผ่านมาแม้ UPA จะพยายามหาช่องทางการลงทุนใหม่ โดยลงทุนผลิตน้ำประปาในลาว ลงทุนด้านพลังงานทางเลือกในเวียดนาม ซึ่งราคาหุ้นไม่ได้ตอบรับข่าวการลงทุนใหม่มากนัก
สมัยก่อนเมื่อมีการปล่อยข่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่เข้าหุ้นตัวไหน แมลงเม่าจะตามแห่เข้าไปเก็งกำไร ไล่ซื้อหุ้นกันฝุ่นตลบ จนราคาหุ้นพุ่งทะยานแต่เวลาที่นักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นออกนั้นไม่มีใครรู้ กว่ารายย่อยจะรู้ว่าขาใหญ่เผ่นไปแล้ว ก็สายเกินไปที่จะขายหุ้นหนีตายได้ทัน และกรณีของ UPA ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตเช่นกัน
เดิมที UPA ในคราบ CYBER นั้นทำธุรกิจซอฟต์แวร์เกมขายให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “Cyberplanet Interactive” โดยเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ช่วงปี 2553 แต่เข้ามาระดมทุนได้เพียง 3 ปีก็แปลงร่างธุรกิจ โดยเบนเข็มมาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน ด้วยเหตุผลความนิยมของธุรกิจเดิมลดน้อยลงไป จากนั้นอีก 4 ปีต่อมาก็เบนเข็มทิศตั้งพิกัดธุรกิจใหม่ หันมาเอาดีด้านพลังงาน ด้วยการดึง “นพพล มิลินทางกูร” อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอดีตเอ็มดี บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) มาช่วยกำหนดแนวทางธุรกิจ ผ่านการบริหารโดย “อุปกิต ปาจรียางกูร” อดีตคู่ชีวิตของ ส.ส.หญิงคนเก่ง “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้ลาออกจากตำแหน่งและขายหุ้นทั้งหมดเพื่อเข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยการเดิมเกมเพิ่มจุดขายต่อเนื่องผ่านการขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ในช่วงปี 2557 หุ้น UPA จึงเฉิดฉายและได้รับการตอบรับอย่างมากจากนักลงทุน แต่ในด้านผลดำเนินงานบริษัทยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2562 ขณะที่ในปีนี้ 3 ไตรมาสรวมกัน บริษัทขาดทุนสุทธิ 24.68 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนที่ต่ำสุดนับตั้งปี 2554 จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มวาดฝันอาจเห็นตัวเลขกำไรสุทธิเกิดขึ้นได้ในปีนี้ นั่นเพราะที่ผ่านมา UPA เดินหน้าขยายฐานธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่า และการลงทุนทำธุรกิจสาธารณูปโภค เพื่อผลิตน้ำประปาขายให้แก่รัฐวิสาหกิจน้ำประปานครหลวงของ สปป.ลาว ในปี 2562 ผลักดันให้รายได้ในปัจจุบันของบริษัทมาจาก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน สาธารณูปโภค และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้อนุมัติให้หุ้น UPA เข้าไปทำการซื้อขายในกลุ่มทรัพยากร (RESOURC) จากเดิมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ( TECH) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทฯ มีรายได้หลักมาจากธุรกิจพลังงาน สาธารณูปโภค และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
"การที่หุ้น UPA สามารถย้ายไปเทรดในกลุ่มทรัพยากร จะช่วยสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตดีในระยะยาว ซึ่งบริษัทฯ มีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าในโครงการต่างๆ สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นและเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันหันมาสนใจมากขึ้นอีกด้วย" นายวิชญ์ กล่าวไว้
ล่าสุด บริษัทประกาศแผนธุรกิจด้วยการเตรียมเข้าพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เต็มรูปแบบในกัมพูชา หลังได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น 33.84% ในบริษัท One Central Tower Company Limited (One Central Tower) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 450 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นเดิมของ One Central Tower คือ นาย Leak Yim ซึ่งจะช่วยเติมเต็มรายได้ประจำ และเพิ่มศักยภาพการสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่บริษัทโดย One Central Tower ถือครองที่ดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในพื้นที่รวม 24,179 ตารางเมตร ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากย่านธุรกิจเพียง 2.5 กิโลเมตร และอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ Bassac ซึ่งจัดเป็นเขตพัฒนาใหม่ในกรุงพนมเปญ ทำให้ UPA เชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ในประเทศกัมพูชา บนทำเลที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางธุรกิจ และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนในโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งโครงการด้านพลังงาน และสาธารณูปโภค โดยสอดคล้องกับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัท ที่ปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV
ไม่เพียงเท่านี้ ล่าสุด บริษัท พาราโบลิกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด หรือ PSP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ดำเนินการซื้อขายหุ้นของบริษัท AIDC Solar Power Number 1 Pte. Ltd. ด้วยวงเงิน 728 ล้านบาท เพื่อเข้าถือครองการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Binh Thuan Solar Power Investment Joint Stock หรือ B-Solar ในสัดส่วน 83.33% ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Song Luy 1 Solar Power Plant หรือโรงไฟฟ้า Song Luy ในประเทศเวียดนาม ซึ่งได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD แล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562
ด้วยความหวังที่ว่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในเวียดนาม จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัท รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัท อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงและแข็งแรงของกระแสเงินสด และงบการเงินของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ B-Solar ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Vietnam Electricity (EVN) เป็นระยะเวลา 20 ปี
“วิชญ์ สุวรรณศรี” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UPA แสดงความเห็นต่อทิศทางธุรกิจของบริษัทเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลมในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 1-2 โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยโครงการดังกล่าวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, พม่า และเวียดนาม)
สำหรับผลประกอบการปี 2563 เชื่อว่าจะสามารถเทิร์นอะราวนด์ โดยสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ จากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ จะช่วยผลักดันรายได้และกำไรในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทำให้มีการเติบโตอย่างมีศักยภาพ ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โครงการสหกรณ์ฯ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสหกรณ์ผู้ผลิต และผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อ.กระแสสินธุ์ โครงการสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรี และโครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี และโครงการผลิตน้ำประปาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่ม CLMV ขณะที่ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศพม่า เป็นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของพม่า (MOEE) ซึ่งคาดจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 10.72 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 23.90 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 55.10% ขณะที่มีกำไรขั้นต้น 5.95 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 50.86% ของยอดขาย โดยกำไรขั้นต้นลดลงจากงวดเดียวกันในปีก่อน 0.049 ล้านบาท หรือ 0.82% เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้แล้ว ส่วนงวด 9 เดือนมีผลกำไรขั้นต้น 21.17 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 53.77% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อน 3.39 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.04% และมีผลขาดทุนสุทธิ 24.79 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันในปีก่อน 14.71 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 37.24%
ส่วนราคาหุ้นจะเริ่มเทิร์นอะราวนด์ตามผลประกอบการที่มีโอกาสพลิกกำไรเป็นกำไรมากน้องเพียงใด ปัจจัยหนึ่งต้องอยู่ที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทด้วย แต่การที่ใครเข้าก่อนก็มีโอกาสก่อน เชื่อว่ายังไม่ใช่เครื่องหมายการันตีสำหรับ UPA ในช่วงเวลานี้ เพราะคงยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ มากกว่าชื่อ “รายใหญ่” เพียงชื่อเดียว