พลังงานมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกแต่ด้วยบริบทที่โลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น รวมไปถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่(New Normal )ซึ่งจะผลักดันให้โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์พลังงานโลกในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งไปสู่การปฏิวัติพลังงานสะอาด(Clean Energy Revolution)
ปี 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานอีกครั้งสำหรับประเทศไทยเช่นกันโดยกระทรวงพลังงานได้เริ่มคิกออฟ(Kickoff)จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ( Thailand Integrated Energy Blueprint :TIEB) หรือแผนพลังงานชาติ ที่จะวางกรอบทั้งแผนระยะสั้น 5 ปี (ปี 2565-70) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และยาว 20 ปี โดยเป็นการรวบแผนพลังงานทั้ง 5 แผนมาไว้เป็นแผนเดียว ได้แก่ 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
“ กระทรวงพลังงานได้เริ่มคิกออฟด้วยการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อ 20 ต.ค. 2563 ที่มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานที่มี 5 แผนรวมเป็นแผนเดียวเพื่อให้เป็นเอกภาพและรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 และให้มีเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาวเพื่อให้แผนแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นปรับได้และรองรับยุคดิจิทัล ทั้งด้านภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนไป”นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงที่มา
เขาย้ำว่าแผนนี้ได้คิกออฟประชุมระดมสมอง (เวิร์กชอป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม บมจ.ปตท. ไปแล้ว ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตดังนั้นสิ่งที่เขาวางแผนวันนี้คืออนาคตของเขาเช่นกัน อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับไทยด้านพลังงาน กระทรวงพลังงานได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันทำแผนอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต โดยเมื่อตกผลึกแล้วจะมีการจัดสัมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2564 และเมษายน 2564 จะเห็นแผนที่ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป
ส่องทิศทางพลังงานโลก
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาทิศทางพลังงานโลกในปี 2564 สิ่งที่ต้องจับตาคือ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก(COP-26) ที่ประเทศอังกฤษในปลายปี 2564 ที่สหภาพยุโรปจะประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ในปี 2593 เช่นเดียวกับสหรัฐ ประกอบกับนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่ประกาศนโยบายชัดเจนการส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างเต็มพิกัดจะยิ่งขับเคลื่อนให้พลังงานของโลกก้าวไปตามทิศทางที่วางไว้ ขณะที่จีนกำหนดเป็นปี 2603 ดังนั้นการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของโลกจะก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่
1.เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่น้ำมันมากขึ้น โดยการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า(EV)ทุกรูปแบบจะเป็นไปแบบก้าวกระโดด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นและส่งผลให้การใช้น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทรงตัวและค่อยๆถดถอยลงในที่สุดโดยหลายประเทศจะหันมาสนับสนุนรถEVแทนแต่ลดการอุดหนุนและส่งเสริมเครื่องยนต์สันดาป
2.ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมาแรง แน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนได้เข้ามามีบทบาทด้านพลังงานในโลกนี้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังคงอัตราเร่งขึ้นโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) พลังงานลม และอื่นๆ ด้วยเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มสู้ได้กับไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่(ESS)ที่เริ่มเด่นชัดในการตอบโจทย์การสร้างพลังงานหมุนเวียนให้เกิดความมั่นคงที่มากขึ้นย่อมขับเคลื่อนให้พลังงานหมุนเวียนยังคงเป็นคำตอบของพลังงานในอนาคต
3.ธุรกิจ Circular Economyผุดรับโลกเปลี่ยน ธุรกิจต่างๆ เริ่มตระหนักในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy ) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดมาปรับใช้จึงทำให้การเกิดขึ้นของธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มขึ้น อาทิ การรีไซเคิลขยะพลาสติก การกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ เป็นต้น
โลกเปลี่ยนก.พลังงานปรับรับเทรนด์ใหม่
การเปลี่ยนแปลงของโลกย่อมทำให้ภาคพลังงานของไทยต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระดับนโยบาย แหล่งเชื้อเพลิง ที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมกับการปรับตัวไว้ล่วงหน้า ซึ่งแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของกระทรวงพลังงานจะเป็นกลไกที่เข้ามาขับเคลื่อน โดยเบื้องต้นต้องวางบทบาทให้กับไทยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกและสอดรับกับขีดความสามารถของประเทศไทยอย่างแท้จริง ส่วนจะเป็นปีใดคงจะต้องติดตามความชัดเจนกันอีกครั้ง
ด้านไฟฟ้า นโยบายจะต้องมองไปยังไฟฟ้าอนาคต ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เบื้องต้นได้มองการปรับเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1. โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะต้องรองรับเทคโนโลยียุคดิจิทัล อาทิ Grid Modernizationศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) 2. การส่งเสริมภาคประชาชน เพื่อกระจายศูนย์และลดคาร์บอน ได้แก่ P2P sandbox ,พลังงานชุมชน ,Electrification (EV & P2X) 3.ด้านนโยบาย แผน TIEB , แผนแม่บท และแผนขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริด ,Energy Hub/ Grid Connector และการปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน รองรับ Energy Transformation
โดยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือการพัฒนาความพร้อมโครงสร้าพื้นฐานด้าน EV ทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า Charging Station และโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับเป้าหมายที่ไทยกำหนดส่งเสริมให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2579 ได้แก่ 1.ศึกษาการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและผลกระทบต่างๆ 2.โครงสร้างค่าไฟสำหรับ Charging Station 3.กำหนดรูปแบบและมาตรฐาน Charging Station และ4.กฏระเบียบและการเชื่อมต่อไฟกับระบบจำหน่าย
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง คนรุ่นใหม่(Yong Gen)ของกรมธุรกิจพลังงานมองว่า การเริ่มเข้ามาของรถEV ช่วงปี 2563-ปี 2568 ยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ในช่วง 6-10 ปี(ปี 2569-ปี 2573) มีการประเมินการเข้ามาขอรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่(BEV) 7.5แสนคันและการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดราว 1.3 ล้านคันจะส่งผลให้การใช้น้ำมัน(เบนซิน-ดีเซล)ลดลงจากปัจจุบันราว 20% หรือ 7 ล้านลิตรต่อวัน และ 10ปีขึ้นไปตั้งแต่ปี 2574 รถยนต์ไฟฟ้าจะแพร่หลายมากขึ้นหลายประเทศจะแบนการใช้เครื่องยนต์สันดาปล้วน รถบัส รถบรรทุกจะถูกแทนที่ EV 10% การใช้น้ำมันเบนซินจะลดลง 50% (15ล้านลิตรต่อวัน) ดีเซลลดลง 10% (6 ล้านลิตรต่อวัน)
ด้วยผลกระทบดังกล่าวคาดว่าชนิดน้ำมันจะต้องลดลงโดย 5 ปีต่อจากนี้ชนิดของเบนซินจะเหลือเพียง เบนซิน (ULG) แก๊สโซฮอล์ 95 และ E 20 ระยะ 6-10 ปีขึ้นไปยกเลิก E10 เหลือเบนซินและ E20 ส่วนดีเซลนั้นระยะ 6-10 ปีข้างหน้าจะเป็น B7(ดีเซลผสมบี100 3-7% ) และB10 และ 10ปีขึ้นไปจะเหลือเพียง B10( บี100ผสม3-10%) ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพจะไม่มีการอุดหนุนโดยทำการปรับสเปกของไบโอดีเซลให้ยืดหยุ่นได้ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) โดยเฉพาะในรถบัส รถบรรทุก ที่ขนส่งระยะไกล
สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) แนวโน้มไลฟ์สไตล์คนเมืองจะใช้เตาไฟฟ้ามากขึ้น สถานีLPGจะทยอยหมดสัญญา รถที่ใช้ LPG หมดสภาพจะทยอยออกจากตลาด ส่งผลให้การใช้ LPG ครัวเรือนและขนส่งแนวโน้มจะลดลงและการใช้ LPG ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นได้มีการเสนอให้เปิดเสรีธุรกิจ LPG เพื่อให้เกิดการแข่งขันลดผูกขาดโดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยรัฐยังคงดูแลผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ส่วนโรงกลั่นน้ำมันในอีก 5 ปียังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะเริ่มมีผลในช่วง 6-10 ปีขึ้นไปที่จะต้องเริ่มปรับกระบวนการกลั่นและการส่งออกน้ำมันเบนซินพื้นฐานที่เหลือและ ระยะ 10ปีขึ้นไปจะต้องปรับส่วนที่เหลือส่งออกและป้อนสู่ปิโตรเคมีมากขึ้น ขณะที่การสำรองน้ำมันนั้น 6-10 ปีขึ้นไปเสนอให้ยกเลิกการสำรองน้ำมันตามกฏหมายของภาคเอกชน โดยใช้การกำกับดูแลรายงานข้อมูลและให้สำรองเมื่อจำเป็น ขณะที่จัดให้มีการสำรองโดยรัฐด้วยการจ้างโรงกลั่นเก็บสำรองส่งผ่านไปยังผู้บริโภค และไทยยังให้บริการเก็บสำรองในอาเซียนได้อีกด้วย ส่วนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมัน ส่งเสริมให้เกิดขนส่งน้ำมันทางท่อมากขึ้นและส่งเสริมปั๊มน้ำมันติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าหรือ xEVs
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในวงการพลังงานได้เสนอแนวคิด แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวงพลังงานทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ฯลฯมีทีมของบมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ล้วนได้เสนอแนวคิดกันเข้ามาอย่างกว้างขวาง ซึ่งบทสรุปจะออกมาอย่างไรนั้นคงจะต้องติดตามกันในปี 2564 ภาพอนาคตพลังงานไทยจะชัดเจนแน่นอน