การตัดสินใจแตกไลน์รุกธุรกิจใหม่ของกลุ่มปตท.เพื่อเสริมNew S-Curve ของประเทศทั้งพลังงานสะอาด ลงทุน Life Science (ยา อาหารที่มีสรรพคุณเหมือนยา ,อุปกรณ์ทางการแพทย์ )โลจิสติกส์ ธุรกิจมูลค่าเพิ่มช่วยต่อยอดปิโตรเคมี รวมไปถึง AI &Robotics เป็นธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรปตท.ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทำให้กลุ่มปตท.มีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งตั้งงบเพื่อการลงทุนโครงการอนาคตหรือ Provisional
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)( PTT) กล่าวว่า กลุ่มปตท.ตั้งงบลงทุน5ปีข้างหน้านี้ (2564-2568) อยู่ที่ 815,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของปตท.และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 ประมาณ 179,072 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนของบริษัท Flagship ในเครือปตท.เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากบอบช้ำจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19
โดยในปี2564 กลุ่มปตท.ได้ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 244,000 ล้านบาท ซึ่งราว 30%ของงบลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนเฉพาะปตท.หรืออยู่ที่ 76,399 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขการลงทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าปี2563ที่ตั้งไว้ 53,901 ล้านบาท แต่ก็ไม่ใช่งบลงทุนที่มากที่สุดเพราะบางปีทางปตท.เคยมีการลงทุนมากกว่านี้
ซึ่งงบลงทุนของกลุ่มปตท.ใน5ปีข้างหน้าใช้ในโครงการในเครือ อาทิ โครงการพลังงานสะอาด(CFP)ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP)ที่มีมูลค่าโครงการ 150,000ล้านบาท ,โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 ของปตท.เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 ใช้เงินลงทุน 17,850 ล้านบาท และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
นอกจากนี้เป็นการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 คิดเป็นสัดส่วน70%ของการลงทุนของงบการลงทุน 5 ปี ประกอบด้วยการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 14 ของงบการลงทุน 5 ปีอาทิ การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) มูลค่าโครงการ 38,500ล้านบาทและโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าโครงการเฟส1อยู่ที่40,900 ล้านบาท ,การลงทุนในธุรกิจน้ํามันและธุรกิจค้าปลีกรวมถึงธุรกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่มปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure)ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 785,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนในอนาคตของปตท.เองจํานวน 331,524 ล้านบาท ดังนั้นหากรวมงบการลงทุนของกลุ่มปตท. 5ปีนี้กับ งบ Provisional Capital Expenditure จะอยู่ที่ประมาณ 1,600,000ล้านบาท โดยเป็นงบเฉพาะของปตท.เอง(งบลงทุน5ปีรวมกับงบProvisional )ถึง 510,000 ล้านบาท นับเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
โดยงบลงทุนในอนาคต หรือ Provisional Capital Expenditure เป็นการสำรองงบลงทุนเพื่อสร้างการเติบโต และเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. จากความเชี่ยวชาญของธุรกิจ เดิม อาทิเช่น โครงการ Southern LNG Terminal และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามแผนพัฒนากําลัง การผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) การขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจ ที่มีศักยภาพการเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของวิถีชีวิตแบบใหม่และนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่(New Ecosystem Business Model) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและทิศทางของโลก อาทิ ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science ทั้งธุรกิจยา ธุรกิจอาหารที่สรรพคุณทางยาและสุขภาพ (Nutrition) ตลอดจนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีงบการลงทุนในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพื่อให้กลุ่มปตท.บรรลุเป้าหมายมีกําลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นําด้าน พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้ผ่านข้้นตอนอนุมัติการลงทุนเป็นรูปธรรมก็จะถูกสลับไปอยู่งบการลงทุนของบริษัทฯ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ปตท.ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย ) จำกัดขึ้นเป็นบริษัทนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อดำเนินธุรกิจทางด้าน Life Science ได้แก่ ยา Nutrition อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อมุ่งหวังสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขของคนไทยและเอเชีย โดยปตท.มีแผนจะเข้าไปซื้อกิจการการโรงงานผลิตยาในต่างประเทศในนามบริษัท อินโนบิก(เอเซีย) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะและบัญชี ธุรกิจ(Due diligence) คาดว่าปีหน้าจะได้ข้อสรุป นับเป็นการเรียนลัดในการรุกธุรกิจยา เบื้องต้นเน้นยารักษาโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมทั้งปูฐานด้านการวิจัยและพัฒนายาด้วย
ปตท.ได้ปูฐานสู่ธุรกิจยามาในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา โดยลงนามข้อตกลงร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุรักษาโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 และปตท.ยังได้ลงนามสัญญากับองค์การเภสัชกรรม ตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 2.5พันล้านบาท เมื่อวันที่ 25ก.ย.2563 ขณะเดียวกันทางสถาบันวิจัยฯปตท.ร่วมกับกรมการแพทย์พัฒนาวัสดุปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลส ที่เตรียมจะออกสู่ตลาดทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า ในปี2564 ปตท.มั่นใจว่าบริษัทจะมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นกว่าปี2563 อย่างแน่นอน เนื่องจากปตท.มีการลงทุนเพิ่มเติมต่อเนื่อง รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะดีกว่าปีนี้ โดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี2564 จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่จะเป็นการฟื้นตัวภายใต้เงื่อนไข 3 ไม่ คือ ไม่เร็ว กว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ยังต้องใช้เวลา แต่ดีกว่าปี2563 , ไม่ทั่วถึง หมายถึงบางธุรกิจจะฟื้นตัวได้ช้า เช่นธุรกิจการบิน ขณะที่ธุรกิจดิจิตอลจะโตเร็วกว่าเดิม และไม่แน่นอน กล่าวคือ วัคซีนโควิด-19ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
อย่างไรก็ดี ปตท.ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจ้างงาน สวนทางกับหลายบริษัทที่มีการตัดลดค่าใช้จ่ายปรับลดพนักงาน โดยเล็งเห็นว่าการจ้างงานจะมีส่วนแก้ปัญหาสังคม เพิ่มกำลังซื้อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้มีนโยบายในการผลักดันให้บริษัทในเครือเดินหน้าโครงการต่างๆที่เคยชะลอการลงทุนไว้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น
โดยกลุ่มปตท.ได้มีการจ้างงานคนที่ว่างงานและนักศึกษาที่จบใหม่รวมทั้งสิ้น 25,828 อัตรา ดังนั้นอยากชักชวนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนร่วมกันจ้างงานโดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการปรับตัวสู่ดิจิตอล จำเป็นต้องใช้คนในการเก็บข้อมูลต่างๆจากข้อมูลกระดาษไปบรรจุสู่ข้อมูลดิจิตอล เชื่อว่าจะช่วยการจ้างงานได้นับแสนอัตราในช่วงระยะสั้น1-2ปี
ดังนั้นในปี2564 เราคงต้องประคับประคองช่วยเหลือกันไป โดยอาศัยความเชื่อมั่น ความร่วมมือจากทุกคนจนกว่าจะได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดหวังว่าในปี2565 ประเทศไทยจะกลับมาแข็งแกร่งกว่า