“คมนาคม” เซ็น “เยอรมนี“ ต่ออายุความร่วมมือพัฒนาด้านรถไฟ อีก 2 ปี หวังถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ “ศักดิ์สยาม” หวังองค์ความรู้เทคโนโลยีชั้นนำของเยอรมนีช่วยดันไทยศูนย์เป็นศูนย์กลางระบบราง “อาเซียน” ทั้งด้านซ่อมสร้างและผลิต ชู “Thai First” สร้างอุตฯ ไทยเข้มแข็ง
วันที่ 3 ธ.ค. 63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีนายเกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า โดยครั้งนี้เป็นการต่ออายุความร่วมมือเดิมอีก 2 ปี 3 ธ.ค. 2563 - 2 ธ.ค. 2565 หลังจากที่มีการลงนามความร่มมมือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ซึ่งครบอายุ 3 ปี ตามข้อตกลงเดิมไปแล้ว โดยจะเป็นการต่อยอดความรู้ ทั้งระบบรถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้น เทคโนโลยีในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้านมลภาวะ รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ และมิติอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทยได้นำระบบรถไฟฟ้าของเยอรมนีใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือว่าจะมีความร่วมมือกันในอนาคตเพราะเยอรมนีเป็นประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้า
“ประเทศไทยได้ตั้งสถาบันวิจัยทางรางซึ่งจะสามารถทำงานร่วมกันต่อไป ซึ่งจะรวมกับอีกหลายๆ ประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านระบบรางที่ทันสมัย โดยไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ทั้งด้านระบบซ่อมบำรุง การก่อสร้าง”
ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างศึกษาในการเปลี่ยนระบบหัวรถจักร จากดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า ที่จะใช้เป็นรูปแบบตู้รถไฟพ่วงแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีไฟฟ้ามีการพัฒนารวดเร็วมาก ต้องพิจารณาว่าเทคโนโลยีใดที่เหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนี้ต้องสามารถเชื่อมกับระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมทางรางเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นแหล่งวิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางชั้นสูง จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทย ความร่วมมือนี้จะมีการส่งเสริมความร่วมมือวิชาการระหว่างไทยและเยอรมนีในด้านระบบราง รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย Thai First เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานจากความร่วมมือช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. การจัดตั้งสมาคมระบบรางไทย-เยอรมนี (German-Thai Railway Association : GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืน
2. การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดทำหลักสูตรปริญญาร่วมวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรามระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ RWTH Aachen University ของเยอรมนี 3. การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร