“คมนาคม” เผยปี 65 รถไฟทางคู่ก่อสร้างเสร็จอีก 5 สาย ระยะทางกว่า 700 กม. เร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 สาย เตรียมเปิดเอกชนร่วมใช้ราง ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางเป็น 30%
วันที่ 25 พ.ย.ที่สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง Rail Asia 2020 และแสดงปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Rail Developments” หรือการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายพัฒนาการคมนาคมระบบรางให้เป็นระบบหลักในการขนส่ง เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งขึ้นร้อยละ 30 พร้อมแนวคิดการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการให้บริการเพื่อให้การใช้งานรางได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสร้างผลตอบแทนให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่าสูงสุด โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าภาพร่วมการจัดงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมงาน
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดคมนาค กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทที่เน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ทั้งการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยมีการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง พัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบรางเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศและช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
เนื่องจากที่ผ่านมาระบบรางมีบทบาทต่อการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้การเจริญเติบโตของเมืองกระจัดกระจายไม่ตอบสนองต่อจำนวนประชากรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการลงทุนระบบรางมากขึ้น เพื่อผลักดันระบบรางเป็นระบบหลักการเดินทางและการขนส่งของประเทศในอนาคต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ การจ้างงาน การท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่กว่า 47 จังหวัด ระยะทางกว่า 4,044 กิโลเมตร แต่ยังไม่เพียงพอเพราะสัดส่วนของทางรถไฟเป็นทางเดี่ยวต้องผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ให้มีเส้นทางเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2565 รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 5 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรางและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ รวดเร็วมากขึ้น
โครงการรถไฟความเร็วสูงขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการอีก 6 โครงการ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นระยะทางรวมกว่า 2,466 กิโลเมตร
สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีจำนวนทั้งสิ้น 14 สายทาง 367 สถานี คิดเป็นระยะทางกว่า 553 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ คาดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2570
กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญการพัฒนาระบบรางในทุกภูมิภาคโดยภายในปี 2571 ประเทศไทยจะมีระบบรางขนาดใหญ่ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคของประเทศ และเมื่อโครงการทั้งหมดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย