xs
xsm
sm
md
lg

สนข.คิกออฟแผนโลจิสติกส์หนุน “แลนด์บริดจ์” วางโครงข่ายคมนาคมเชื่อมอีอีซี-ท่าเรือระนอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.คิกออฟศึกษาแผนพัฒนาโลจิสติกส์ ฟังข้อมูลคนพื้นที่ ร่วมวางโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง เชื่อม “แลนด์บริดจ์” จากฐานการผลิตอีอีซี และท่าเรือน้ำลึกระนอง-ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เพิ่มศักยภาพลดต้นทุนของประเทศ เปิดประตูการค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC และยุโรป

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า วันนี้ (1 ธ.ค.) สนข.ได้จัดสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการศึกษาการจัดทำแผนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิต ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดระนองพื้นที่ศึกษา : พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ จ.ชลบุรี โดยมีนายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ได้เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยให้เร่งผลักดันแผนงานเบื้องต้น ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และได้รับทราบผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ที่ให้เร่งรัดดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟจังหวัดชุมพร เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง

โดยการศึกษาจัดทำแผนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เขตอีอีซี กับประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดระนอง มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผน Logistics ที่มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อการลดต้นทุนด้าน Logistics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคใต้ที่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเล (อ่าวไทย-อันดามัน) เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือตะวันออกกลาง ยุโรป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นในการจัดสัมมนาฯ จะเกี่ยวข้องกับปัญหาและสภาพการขนส่งสินค้าบริเวณพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ในปัจจุบัน รวมถึงข้อจำกัดและโอกาสในการพัฒนาท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางในการพัฒนาการขนส่งเชื่อมโยงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและส่งเสริมจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบและเส้นทางที่เสนอแนะ ให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพข้อเท็จจริงโดยจะมีการจัดสัมมนารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวน 2 ครั้ง คือ เดือน พ.ค. 2564 และเดือน ก.พ. 2564

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามันไปยังพื้นที่อีอีซี อยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน EIA โดยคาดศึกษาประมาณ 1 ปี










กำลังโหลดความคิดเห็น