xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบปี 64 ปูพรมอัดเมกะโปรเจกต์"ศักดิ์สยาม"เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลายเป็นตัวแปรร้ายระดับโลกที่ส่งผลกระทบอย่างหนักในทุกๆ ด้าน อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สาธารณะสุข เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐ ที่จะต้องหาแนวทางเร่งแก้ไข และเรียกความเชื่อมั่นโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

สำหรับโครงการลงทุนของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน แน่นอนว่าหน่วยงานที่เป็นแกนหลัก คือ “กระทรวงคมนาคม” ภายใต้การบริหารงานของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เรื่องนี้ “นายศักดิ์สยาม” ออกมาสะท้อนความเห็นว่า การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมนั้น อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้วางไว้ ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามามารถดำเนินการได้ตามเป้า จะกลับมาเป็นมหาอำนาจแห่งทวีปเอเชีย

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการนั้น โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 231,924.78 ล้านบาท และ ดำเนินการครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ

ซึ่งในด้านขนส่งทางบก เป็นเนื้องานของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปรียบเสมือนสายเลือดหลักในการขนส่งคนและสินค้า สิ่งที่จำเป็นคือต้องปลอดภัย สะดวก และเชื่อมโยงครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่งบประมาณของประเทศมีจำกัด โดยในทุกครั้งที่มีการของบประมาณ จะได้รับอนุมัติเพียง 40% จากที่ขอไป 100% จึงต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุดแทน โดยรัฐจะต้องแบ่งเบาภาระงานด้านการบำรุงรักษา (O&M) ให้เอกชนรับภาระแทน

ทั้งนี้ เมื่อโฟกัสเมกะโปรเจ็กต์ ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศนั้น คงต้องยกให้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (Operation and Maintenance : O&M) โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP gross cost 30 ปี วงเงิน 39,138 ล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ที่เป็นการรวมตัวของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)

สำหรับทั้ง 2 โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 โดยในส่วนของโครงการ M6 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท คาดว่าต้นปี 2566 จะเปิดใช้ได้ ถือว่าทุกอย่างยังเดินตามไทม์ไลน์

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนารายได้ของประชาชนโดยการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์และหลักนำทาง เพื่อสร้างดีมานต์ให้กับชาวสวนยาง ซึ่งได้อุปกรณ์ทั้งหมดไปทดสอบที่ประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้ ”พาราเอซี” ให้เหลือเพียง “เอซี” อย่างเดียวแต่ละปีมีผลผลิตยางพาราออกมาประมาณ 300,000 ตัน/ปี โดยล่าสุดรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาให้แล้ว 1,700 ล้านบาท โดยกระจายไปทั่วประเทศ จำนวน 12 จังหวัด

สำหรับจุดที่จะดำเนินการนั้น จะเริ่มที่จุดที่มีอุบัติเหตุเยอะๆ และในปี 2564 จะของบกลางอีก และปี 2565 จะของบประมาณดำเนินการให้ครบตามที่วางแผนไว้ 3 ปี วงเงินรวม 85,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งจะเป็นแผ่นหุ้มแบริเออร์และอีกครึ่งหนึ่งเป็นหลักนำทาง จะซื้อตรงจากสหกรณ์การเกษตร ไม่ผ่านคนกลาง นายศักดิ์สยาม กล่าวและว่า “เมื่อโครงการนี้ทำสำเร็จจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ใน 3 ปีเงินถึงมือชาวสวนยาง 3 หมื่นล้านบาท”

ในส่วนของระบบรางนั้น “นายศักดิ์สยาม” ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในระบบราง แต่การใช้รางไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยในส่วนของสัญญา 2.3 (งานวางราง ระบบการเดินรถ อาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะเซ็นสัญญากับฝ่ายจีนที่ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินประมาณ 2.24แสนล้านบาท ยังเดินหน้าตามแผน ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 2568 เป็นต้น

สำหรับการขนส่งทางน้ำ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 8.43 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอีอีซี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568 แต่ในอนาคตจะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จึงต้องวางกรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแบบ Auto ระนอง–ชุมพร ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ โดยจะให้มีรถไฟทางคู่แบบแลนด์บริดจ์ เชื่อมเข้าไปร่วมกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กม. ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชม. ถือเป็นการเปิดประตูสู่ประเทศไทย พัฒนาด้านโลจิสติกส์

ขณะที่การขนส่งทางอากาศ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลสนามบินทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น ทอท.ดูแล 6 สนามบิน และ ทย. ดูแล 29 สนามบิน แต่ในปัจจุบันสนามบินของไทย มีไม่เพียงพอกับการให้บริการ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง จึงได้กำหนดเป้าหมายและหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้ความสามารถการรองรับผู้โดยสารทางอากาศยานทั่วโลกเพิ่มขึ้นให้ได้ 150 ล้านคน/ปี และเที่ยวบินภายในประเทศเพิ่มเป็น 30 ล้านคน/ปี จึงต้องขยายความสามารถการรองรับศักยภาพของสนามบินต่างๆ มากขึ้น

“เราต้องพัฒนาไว้ก่อน เพราะรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว และกว่า 80% ของนักท่องเที่ยวมาจากทางอากาศ เคยมีคนบอกผมว่าจะเร่งพัฒนาตอนนี้ทำไม เพราะคนยังไม่เข้ามา แต่ผมเชื่อว่าโควิดต้องจบแน่ๆ สักวันหนึ่ง เราจึงต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้รอไว้เลย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นี่คือแผนดำเนินการของกระทรวงคมนาคม ไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางของพี่น้องประชาชนเท่านั้น ยังมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศนำไปสู่การสร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น