ก้าวสู่ปีที่ 2 ในฐานะกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกรด A “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” พร้อมด้วย “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์” และ “ถาวร เสนเนียม” 2 รมช.คมนาคม ร่วมกันกับหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ “คมนาคม” นับร้อยชีวิต จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมสู่การปฏิบัติ” เพื่อสรุปผลการทำงานในห้วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จากที่ให้นโยบายและงานที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลเดิม ซึ่งแผนงาน “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ในรอบปี ถือว่าสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา...
งานนี้มีเป้าหมายเพื่อระดมความคิดเห็นและติดตามการดำเนินงานของแผนงานของทุกโครงการ...ทุกหน่วยงาน ถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรค ให้เห็นภาพชัดๆ เพื่อแก้ไข และทำให้ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลังจากนี้
หากจะไล่เรียงงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรนัก แม้หลายโครงการจะมีการกำหนดเป้าหมายงานเร่งด่วน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน ... เช่น นโยบายที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คือ ปลดล็อกความเร็ว 120 กม./ชม., แกร็บถูกกฎหมาย, เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส, ปรับเวลารถบรรทุกสิบล้อเข้าเมือง, แก้ปัญหาจราจร, แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ
“ผ่าน 1 ปี ยังไม่มีเรื่องไหนสำเร็จ”
ส่วนที่ทำได้จริงและได้เสียงชมเบา..เบา เห็นจะเป็นเรื่อง การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงและแอร์พอร์ตเรลลิงก์
คมนาคมมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาเมกะโปรเจกต์ “คมนาคม” มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2563 มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เม็ดเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท
ชง ครม.เคาะแบ่งสัญญา เข็นประมูลทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง วงเงิน 1.52 แสนล้าน
สำหรับปีที่ 2 จะมีการขับเคลื่อนการลงทุน แบ่งเป็น ด้านราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.เพื่อพิจารณากำหนดสัญญาก่อสร้าง จำนวน 3 สัญญา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินโครงการ
เส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อเวนคืนที่ดินและจัดทำเอกสารประกวดราคา
พร้อมกันนี้ จะเร่งรัดงานก่อสร้างทางคู่ 5 เส้นทาง วงเงิน 8.9 หมื่นล้าน พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ วงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 700 กม. ให้เป็นไปตามแผน ได้แก่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 169 กม. เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม.
“ซึ่งหากไม่มีข้อติดขัด ปี 64 น่าจะเปิดประมูล”
ส่วนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
ทางคู่เฟส 2 อาจจะยังไม่ได้รับการอนุมัติในปีนี้ เพราะโครงการใช้เงินลงทุนสูง ในขณะที่ช่วงนี้ประเทศต้องใช้งบประมาณสำหรับแก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบโรคโควิด-19 ดังนั้น สศช.ต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะความคุ้มค่าในการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญ และอาจจะพิจารณาเป็นรายโครงการที่เห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้ต่อเนื่องกับทางคู่เฟสแรก
เปิดรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสีเขียว วิ่งเพิ่มอีก 36.2 กม.
สำหรับรถไฟฟ้านั้น ปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563 มีการเปิดให้บริการรวม 3 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) และเตาปูน-ท่าพระ, สายสีเขียวต่อขยาย เปิดช่วงหมอชิต-วัดพระศรีมหาธาตุ รวม 36.2 กม. ทำให้ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑลเปิดให้บริการแล้ว 159 กม.
ส่วนรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะต้องเร่งรัดในปี 2564 คือ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26.3 กม. สัญญา 1 งานโยธา สถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง คืบหน้า 99.80% (ล่าช้า 0.20%) สัญญา 2 งานโยธาทางรถไฟ บางซื่อ-รังสิต เสร็จแล้ว สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกลและตู้รถไฟฟ้า ผลงาน 83.72% (ล่าช้า 16.28%)
ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าสายสีแดงจะเสร็จปี 2564 และเปิดทดลองเดินรถได้
ทั้งนี้ นโยบายใหม่ต้องการให้เปิด PPP สายสีแดง ดึงเอกชนลงทุนเดินรถและก่อสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.80 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.70 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 25.90 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท
ตามการศึกษาของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า นอกจากเอกชนจะต้องลงทุนงานโยธาส่วนต่อขยายแล้ว จะต้องจ่ายคืนค่างานเดินรถเดิมที่ รฟท.ลงทุนไปแล้ว แลกกับสิทธิ์เดินรถ 30 ปี โดย รฟท.ได้ศึกษาพบว่ามีข้อดี คือ ทำให้ รฟท.ประหยัดไม่ต้องลงทุนก่อสร้างเพิ่ม 64,691 ล้านบาท ขณะที่จะมีผลตอบแทน/ส่วนแบ่งรายได้ กำหนดจากการเดินรถ การพัฒนาพื้นที่ 28 สถานีตามแนวสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ TOD
“มุ่งหวังว่ารูปแบบ PPP สายสีแดงนี้จะลดภาระหนี้ ไม่ก่อหนี้เพิ่ม สอดคล้องกับแผนฟื้นฟู รฟท.ที่มีหนี้กว่า 167,824 ล้านบาทในปัจจุบัน”
ส่วนโปรเจกต์ข้ามชาติ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท งานโยธา 14 สัญญา วงเงินประมาณ 110,241 ล้านบาท ก่อสร้างไปแล้วเพียง 2 สัญญา อีก 9 สัญญารอลงนาม ซึ่งติดปัญหา EIA ช่วงสถานีอยุธยา อยู่ระหว่างหารือกับกรมศิลปากรเพื่อสรุปรูปแบบสถานี และผลักดัน EIA ช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา ขออนุมัติ สผ.ต่อไป
ส่วนสัญญา 2.3 งานวางราง ระบบการเดินรถ อาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญากับฝ่ายจีนได้ในเดือน ต.ค.นี้
ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดินหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.50 กม. ผลงานรวมคืบหน้า 57.53% แบ่งเป็นงานโยธา ก้าวหน้า 60.31% งานระบบไฟฟ้าและเดินรถ ก้าวหน้า 53.91% เป้าหมายเปิดเดินรถปี 2565
สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.40 กม. ผลงานรวมคืบหน้า 57.90% แบ่งเป็นงานโยธา ก้าวหน้า 60.94% งานระบบไฟฟ้าและเดินรถก้าวหน้า 53.51% เป้าหมายเปิดเดินรถปี 2565
ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี 3 กม. และสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว 2.60 กม. รฟม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ฉบับแก้ไข
เซ็นสัญญาสายสีส้มกว่าแสนล้าน ช่วยกระตุ้น ศก.และจ้างงาน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างเปิดประมูลร่วมลงทุน PPP Net Cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาในต้นปี 2564 ซึ่งจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานได้แน่นอน
ทล.อัดลงทุน ต่อมอเตอร์เวย์เอกชัย-บ้านแพ้ว และ PPP สายนครปฐม-ชะอำ
โครงสร้างพื้นฐานทางถนนนั้น กรมทางหลวง (ทล.) ผลักดัน 3 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์ (M82) ต่อขยาย ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว ค่างานโยธา 20,000 ล้านบาท ซึ่ง ทล.จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้างเอง คาดว่าจะเสนอ ครม.และเปิดประมูลในเดือน ต.ค. 2563 เริ่มก่อสร้างในปี 2564-2566 แล้วเสร็จในปี 2567
ส่วนงานระบบบริหารและบำรุงรักษา (O&M) ตั้งแต่ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 1,850 ล้านบาท จะลงทุนร่วมเอกชน (PPP Gross Cost) จะสรุปผลศึกษา PPP เสนอคมนาคมใน ต.ค. 2563 เพื่อเสนอคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และ ครม.ในช่วงก.พ. 2564 และเปิดประมูลได้ใน ส.ค. 2564 ติดตั้งปี 2565-2567 ดำเนินการสัญญาปี 2567-2596 ระยะเวลา 30 ปี
มอเตอร์เวย์ (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 55,805 ล้านบาท ค่างานระบบ 4,014 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 897 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,290 ล้านบาท เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคและประชาชนยังคัดค้านการเวนคืน ดังนั้นต้องเร่งแก้ไข
โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาวกับทางหลวงหมายเลข 3510 ที่บริเวณอ.หนองหญ้าปล้อง ปรับจากสามแยกวังมะนาว และสี่แยกวังมะนาว ซึ่งจะมีการก่อสร้างถนนใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 14.8 กม. วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น ทล.จะศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดในปี 2564 และจะตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
ทอท.และ ทย.ทุ่มขยายสนามบินทั่ว ปท.รองรับการบินฟื้นปี 65
สำหรับแผนพัฒนาขนส่งทางอากาศระยะ 15 ปี (2562-2576) ในการเพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินที่ 1.2 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งจะมีผู้โดยสารเข้ามาถึง 240 ล้านคน/ปี
การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังดำเนินการไปตามแผนแม่บท และนโยบายของรัฐบาล โดย ทอท.เตรียมลงนามสัญญากับผู้รับจ้างโครงการงานจ้างก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินประมาณ 21,794 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2567
ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) มูลค่า 42,000 ล้านบาท ได้เสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาแล้วสำหรับการพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 37,590 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2569
สำหรับสนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของ ทย. จำนวน 29 แห่ง “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม ยืนยันเดินหน้าแผนก่อสร้างขยายขีดความสามารถเต็มสูบ ...ไม่ชะลอ ไม่เบรก ทั้งนี้ เนื่องจากตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดว่าโรคโควิดจะยุติในอีก 2-3 ปี หรือในปี 2565-2566 สถานการณ์โลก การบินการเดินทางต่างๆ จะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 และอีก 2 ปีต่อไป หรือปี 2568 ทุกอย่างจะเป็นปกติ ดังนั้น แผนการก่อสร้างขยายศักยภาพสนามบิน ทย.ทั้งหมดจะแล้วเสร็จพอดีกับที่การบินจะกลับมาเติบโตตามปกติ
ในปี 2564 กรมท่าอากาศยานเสนอของบประมาณ 5,800 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนก่อสร้างขยายสนามบินราว 3,992.14 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินบุรีรัมย์ และตรัง เป็นต้น ส่วนการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างศึกษา ได้แก่ มุกดาหาร นครปฐม พัทลุง สตูล บึงกาฬ พะเยา และกาฬสินธุ์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินตาก หัวหิน เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา
ดันปิดจ็อบประมูลแหลมฉบังเฟส 3
ด้านคมนาคมทางน้ำ จะสามารถสรุปผลการประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในปี 2563 และเสนอ ครม.เห็นชอบได้ ขณะที่โครงการมีงบประมาณโครงการ 114,046.93 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงทุนเอง 53,489.58 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานพร้อมจัดหาและติดตั้งเครื่องมือยกขนหลัก และเอกชนลงทุน 60,557.35 ล้านบาท
นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังมีโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation) ที่จะประมูลจัดหาเครื่องมือยกขน วงเงิน 913.780 ล้านบาท
ส่วนกรมเจ้าท่า จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น พัฒนาท่าเรือเกียกกาย ท่าบางโพ รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการขุดลอกฟื้นคืนสภาพร่องน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง สำหรับการพัฒนาสถานี/เรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ โดยนำร่องพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระราม 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนของกรมเจ้าท่า (MD digital Service) และการเชื่อมโยง Data Logistic Chain และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community)
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหว่านเม็ดเงินเข้าระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจในยุคที่โควิดระบาด และประเทศมีข้อจำกัดมากมายในการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะที่เศรษฐกิจก็ตกต่ำ GDP ติดลบอาจจะยาก แต่เชื่อว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย