xs
xsm
sm
md
lg

“อนุชา” แย้มแผนดูแล ศก.ปี 64 จ่อชงพักหนี้ดึง กทบ.-กสอ.เพิ่มรายได้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุชา” แย้มเตรียมเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2564 จ่อชงพักหนี้เกษตรกร เอสเอ็มอี กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ปลื้มโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท หลัง กสอ.-กทบ.บูรณาการดึงจุดขาย 4 ชุมชน “สรรพยา-มโนรมย์-บ้านเนินขาม-ชุมชนสรรค์บุรี” ถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาฝึกอบรมนักออกแบบชุมชนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น ใส่โลโก้อัตลักษณ์สร้างจุดต่างกระตุ้นยอดขายตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ชุมชน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เปิดเผยว่า เตรียมเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 64 ต่อที่ประชุม พปชร. ที่ต้องการให้มุ่งเน้นเพิ่มกำลังซื้อของคนไทยทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับผลกระทบโควิด-19 เพื่อให้มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยซึ่งประเด็นหลักระยะเร่งด่วนจะต้องมีโครงการพักชำระหนี้ให้ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และเสริมรายได้เกษตรด้วยการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้ขายมีกำไรหรือมาร์จิ้น เช่น ปาล์ม ยางพารา อ้อย ส่วนจะใช้วิธีประกันราคาหรือจำนำสินค้าหรือแนวทางอื่นก็คงต้องหารือกันต่อไป

“หากพักหนี้ชั่วคราวได้ และเพิ่มมาร์จิ้นสินค้าเกษตรก็จะสร้างกำลังซื้อมหาศาล เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อกำลังซื้อมีเพิ่ม โรงงาน ร้านค้า ห้างฯ ก็มีรายได้ รัฐก็มีรายได้เพิ่มจาก VAT เป็นผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐก็จะเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนต่อเนื่อง” นายอนุชากล่าว

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (29 พ.ย.) นายอนุชาได้เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมความเข้มแข็งการเสริมรายได้ขุมชน โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ในโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท


นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ.ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการหาแนวทางการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ การส่งเสริมชุมชนให้มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 4 ชุมชน ได้แก่ 1. ชุมชนสรรพยา 2. ชุมชนมโนรมย์ 3. ชุมชนลาวเวียงบ้านเนินขาม และ 4. ชุมชนบ้านอ้อย เนื่องจากแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน และมีศักยภาพที่พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในชุมชนให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กสอ.ได้ใช้ประสบการณ์ดำเนินงานจากโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้าน CIV ที่ดำเนินการกว่า 230 แห่งทั่วประเทศ ตกผลึกเป็นองค์ความรู้พิเศษเพื่อยกระดับศักยภาพให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป้าหมายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หรือ Identity โดยอาศัยองค์ประกอบจากวัตถุดิบในชุมชนนั้นๆ เชื่อมโยงเรื่องราววิถีชุมชนเพื่อเป็นจุดขาย ซึ่งเบื้องต้น กสอ.บูรณาการความร่วมมือกับทาง กทบ. โดยเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ส่งเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้แก่ชุมชนและกลุ่มสมาชิกลูกค้าของทาง กทบ. ภายใต้หลักสูตร การพัฒนาอาชีพของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 : ITC 4.0) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center : Thai - IDC) ที่จะเปิดฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนานักออกแบบชุมชน หลักสูตรการทำผ้ามัดย้อม และหลักสูตรการเขียนเทียน กลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ซึ่ง​ในปี 64 กำหนด​ 3 พื้นที่หลักเป็นโมเดล​นำร่อง ได้แก่ ​จ.ชัยนาท, จ.สุโขทัย​ และ จ.อุดรธานี

“การเข้ามาพัฒนาองค์ประกอบของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ของ​ 3 พื้นที่หลักจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะเป็นจุดขายเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง และโดยในส่วนของชัยนาทคาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 คนต่อปี หลังจากที่การท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19” นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพลกล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ.พร้อมให้การสนับสนุนอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นรูปธรรม ทั้งในด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม​ในครอบครัวและหัตถกรรมไทย เพื่อการให้บริการสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ต่อปี​ วงเงิน 5 หมื่นบาท ถึง 2 ล้านบาท/ราย​ การให้ความรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว และพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ​ กทบ. กล่าวว่า โครงการนี้​ กสอ.จะเข้ามาต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม OTOP ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งได้รับความสนใจจากชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันสมาชิกจะมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายอยู่แล้วแต่ยังต้องการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้สมาชิกของ กทบ.เข้าถึงองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น