กรมการพัฒนาชุมชน ดันผ้าไทยโกอินเตอร์ มุ่งพัฒนาศักยภาพส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ให้มีความมั่นคง พร้อมปั้น YOUNG DESIGNER สานต่องานผ้าไทย ชวนคนไทยนุ่งผ้าไทย หวังสร้างเม็ดเงินกว่า 105,000 ล้านบาท
“หากมีคนไทย 35 ล้านคน แต่งกายด้วยผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ 10 เมตร ราคาเมตรละประมาณ 300 บาท เกิดความต้องการ ผ้าไทย จำนวน 350 ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า 105,000 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้ก็จะหมุนเวียนกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคาดหวังในงานจัด อบรมเชิงปฎิบัติการ Bangkok Design Camp โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น OTOP นวัตวิถีกิจกรรมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) จัดโดยสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการสานต่อแผนโครงการหมู่บ้าน OTOP รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวและโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ 63 จังหวัด รวมกว่า 277 ผลิตภัณฑ์
“กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาพี่น้องชุมชน เป็นการยกระดับ และเพิ่มเติมศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นในทุกกลุ่ม ทุกภาคของประเทศไทย การอบรมโครงการครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกคน ทำให้เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ย้ำอยู่กับที่ พวกเขาพร้อมที่จะสร้างความมั่นคง มั่นคั่งอย่างยั่งยืนตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฉะนั้น การพัฒนาชุมชนตามที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมาย เป็นเสมือนองคาพยพของรัฐบาลในการนำโยบายมาสู่พี่น้องชุมชนอย่างแท้จริง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
โครงการในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการชุมชน ให้มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้าน ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าที่ระลึก อาหารพื้นถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดทําโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว สามารถสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในชุมชน
การดำเนินการจะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี , กิจกรรมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถ ซื้อกลับได้ง่าย สอดคล้องกับระบบการขายออนไลน์และระบบขนส่งในปัจจุบัน และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในรูปแบบสื่อออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 3 ช่องทาง และสอนให้ชุมชนนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ฟรีต่างๆ เช่น Platform Instagram You Tube และ Facebook เป็นต้น โดยทั้ง 3 กิจกรรมนี้มุ่งหมายให้เกิดการส่งเสริมพัฒนาหมู่บ้านให้ได้ศักยภาพและมีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนมีโปรแกรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย และใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าผ่านการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญในการดึงนักออกแบบรุ่นใหม่ หรือ YOUNG DESIGNER เข้ามาร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มีความทันสมัย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนทุนในการเปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ที่จะกลายเป็นโมเดลศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทอผ้าแห่งใหม่ และเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเรื่องการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล ต่อไปอีกด้วย
“ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเราต้องดำเนินการควบคู่กันไป ต้นน้ำหมายถึงผู้ที่ผลิตผ้าไทยต้องได้รับความรู้และมีทายาทที่ถ่ายทอดรับองค์ความรู้นี้ให้สืบทอดผ้าไทยต่อไปได้ ส่วนเรื่องของปลายน้ำ การตลาดทางกรมพัฒนาชุมชนของเราก็จัดงานผ้าที่เป็นงานยิ่งใหญ่เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตรงนี้ทุกปีอยู่แล้ว มีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมอื่นๆอีกอย่างเช่น OTOP CITY, OTOP ศีลปาชีพ, OTOP ผ้าไทยก้าวไกลด้วยพระบารมี รวมถึงการจัด ROAD SHOW ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ผ้าไทยไปปรากฏสู่สายตาชาวโลก” นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย