รฟท.เซ็นรับเหมา 5 สัญญาก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน วงเงินกว่า 4.02 หมื่นล้าน ระยะทาง 101 กม. คาดออก NTP เข้าพื้นที่ได้ต้นปี 64 “ปลัดคมนาคม” เร่งสรุปรูปแบบบริษัทเดินรถกลางปี 64 ส่วนช่วงทับซ้อนรถไฟ 3 สนามบิน หน้าดอนเมือง ขีดเส้นซีพียืนยันก่อสร้างในต้นปีหน้า หวั่นงานดีเลย์
วันนี้ (26 พ.ย. 63) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับผู้รับจ้าง จำนวน 5 สัญญา ระยะทางรวม 101.15 กม. วงเงินค่าก่อสร้างรวม 40,275.33 ล้านบาท
นายชยธรรม์ พรหมศรปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) มีระยะทาง 250.77 กม. แบ่งการก่อสร้างงานโยธา เป็น 14 สัญญา โดยก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 362.52 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท โดยการลงนาม 5 สัญญานี้มีระยะทางรวม 101.15 กม. วงเงินค่าก่อสร้างรวม 40,275.33 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 7 สัญญา รฟท.จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนงาน ซึ่งปัญหาอุปสรรคยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และยังมีเป้าหมายเปิดให้บริการปี 2568
สำหรับสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยหลักการจะให้ทางกลุ่มซีพีเป็นผู้ก่อสร้าง แต่หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายในต้นปี 2564 ทาง รฟท.อาจจะก่อสร้างเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการแบ่งแยกเนื้องาน รวมถึงรอกลุ่มซีพียืนยันความชัดเจน
นายชยธรรม์กล่าวถึงการเดินรถว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ก.ค. 2560 ให้มีการตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท. เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เป็นผู้เดินรถ โดยขณะนี้อยู่ระหว่าวศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และคาดว่าจะสรุปได้ประมาณกลางปี 2564 ซึ่งหลักการ รฟท.เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โครงสร้าง โดยอาจจะต้องแปลงเป็นทุนเพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเดินรถ
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า งานโยธา 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็ก และลำตะคอง) วงเงิน 4,279.309 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) มีงานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร งานอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 4 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง วงเงิน 9,838 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด มีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด วงเงิน 9,848 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ถึง 37.45 กิโลเมตร
สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา วงเงิน 7,750 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร
และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย วงเงิน 8,560 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) มีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ได้ช่วงต้นปี 2564 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอออกประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในจุดที่มีการเวนคืนเพิ่มและแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าไม้
สำหรับสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,330 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปผลประมูล เรื่องจากมีการอุทธรณ์การพิจารณาผล ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด คาดว่าจะเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมบอร์ด รฟท.ได้ในเดือน ธ.ค. 2563