โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ส่อดรามา บริษัทคุณสมบัติครบ โวยแหลก “กรมบัญชีกลาง” ทำตัวไม่เป็นกลาง ซัดใช้ดุลพินิจอนุมัติยกเว้นเป็นการเฉพาะราย เอื้อประโยชน์ชัดเจน
วันนี้ (23 พ.ย) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีบริษัทแห่งหนึ่งขาดคุณสมบัติในการประมูลงานการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ กส.04/ปก./2562 และทางคณะกรรมการคัดเลือกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ตัดสิทธิ์บริษัทดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า บริษัทนี้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เพราะเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วม (และคุณสมบัติกับผลงาน) ไม่ถูกต้องตามทีโออาร์ แต่ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวได้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ซึ่งผลการอุทธรณ์ปรากฏว่า ทางกรมบัญชีกลาง สั่งให้ รฟท. ปฏิบัติตามมาตรา 119 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ว่า ให้การอุทธรณ์ฟังขึ้น และให้บริษัทดังกล่าวซึ่งมีคุณสมบัติและผลงานไม่ครบถ้วน เป็นผู้ชนะการประมูลนั้น
ปรากฏว่า แหล่งข่าวจากบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสามารถประมูลงานในโครงการดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า กรณีที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องของกรมบัญชีกลาง โดยเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจ เอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่น โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ กำหนดไว้ว่า คณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องกระทําการตามหน้าที่โดยสุจริต แต่คำวินิจฉัยของกรมบัญชีกลางทุกประเด็นมีข้อสงสัยว่า ขัดกับหลักการที่วางเอาไว้ ดังนั้น ทางบริษัท เห็นว่า การอนุมัติยกเว้นการเฉพาะรายเป็นการเลือกปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่นนั้น ขัดกับ มาตรา 120 ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ จะมีโทษทางอาญารุนแรงถึงขั้น จําคุกตั้งแต่ 1-10 หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
“ที่ต้องการให้เปิดเผยกรณีนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนและสังคมรับรู้ว่า กรมบัญชีกลางทำตัวไม่เป็นกลาง โดยมีการใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้บุคคลรายหนึ่งที่มีคุณสมบัติและผลงานไม่ครบถ้วนตามระเบียบกฎหมาย และมีการใช้ดุลพินิจแก้กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลรายหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ให้เป็นผู้ชนะให้ได้ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากรมบัญชีกลางสามารถ กลับผิดให้เป็นถูกได้แต่อย่าลืมว่า สัญญารถไฟความเร็วสูงที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า นั้น จะเป็นงานที่มีความสำคัญและเกี่ยวพันเป็นผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนไทยทุกคน ถึงต้องดำเนินการตามที่กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ โดยจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ สม่ำเสมอ และเท่าเทียมกับทุกราย ไม่ใช่ใช้ดุลพินิจพิจารณายกเว้นกฎเกณฑ์ต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะการที่จะนำบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน เพียงแค่ 5 ล้าน มาได้รับงานกับโครงการที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน จะทำให้ทางภาครัฐเสียหาย ซึ่งอาจจะเสียค่าโง่อีกต่างหากด้วย” แหล่งข่าวกล่าว