บอร์ด รฟท.เห็นชอบขยายกรอบเวลาสัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีนออกไปอีก 90 วัน ไปสิ้นสุด ม.ค. 64 หลังกำหนดลงนามยังไม่ชัด พร้อมอนุมัติ “อิตาเลียนไทย” คว้าสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6,573 ล้าน ต่ำกว่าราคากลาง 16.61% ลุ้น สผ.ไฟเขียว EIA เร่งเซ็นรับเหมาลุยก่อสร้าง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ต.ค. มีมติเห็นชอบขยายกรอบเวลาในการดำเนินงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 ต.ค. 2563 ออกไปอีก 90 วัน หรือจนถึง 31 ม.ค. 2564 โดยเป็นการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โดยจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้าง รวมถึงกรอบวงเงินสัญญาที่ 50,633.50 ล้านบาทแล้ว ส่วนเหตุผลที่ต้องขอขยายเวลากรอบการดำเนินงานสัญญา 2.3 ออกไป เนื่องจากการลงนามในสัญญา 2.3 เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นวันที่ 28 ต.ค.นี้หรือไม่ เป็นการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งและไม่ให้เกิดปัญหา
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังอนุมัติผลการประมูลก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 4-4 งานโยธา สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย (ราคากลาง 7,664 ล้านบาท ) ซึ่ง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเสนอราคาที่ 6,573 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,091 ล้านบาท หรือ 16.61% ซึ่ง รฟท.จะกำหนดการลงนามในสัญญานี้ได้ต่อไป เนื่องจากก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ ไม่ต้องรอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
สำหรับงานโยธา โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีจำนวน 14 สัญญา กรอบวงเงิน 117,914.08 ล้านบาท โดยก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สัญญา คือสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง งานคืบหน้า 39.29% ล่าช้ากว่าแผน 47.98%
ส่วนอีก 12 สัญญา ดำเนินการประมูลแล้ว 11 สัญญา อนุมัติผลประมูลแล้ว 10 สัญญา เหลือสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพิจารณากรณีมีการยื่นอุทธรณ์ ส่วนที่เหลือยังไม่ประมูล คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอความชัดเจนเนื่องจากโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมานั้น รอการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะประชุมภายในเดือน ต.ค.นี้