xs
xsm
sm
md
lg

เคาะซื้อระบบไฮสปีด5หมื่นล.-ตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์รฟท.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.อนุมัติขยายกรอบวงเงินสัญญา 2.3 ซื้อระบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็น 5.06 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้าน แต่ไม่กระทบกรอบวงเงินรวมที่ 1.79 แสนล้าน เตรียมลงนาม 29 ต.ค.นี้ เคาะตั้งบ.ลูกบริหารทรัพย์สิน รฟท. คาด30 ปี หารายได้ 6.3 แสนล. ช่วยล้างหนี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (29 ก.ค.) มีมติเห็นชอบ ปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา) จากวงเงินเดิมที่ครม. เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ที่ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,075.12 ล้านบาทซึ่งไม่กระทบกับกรอบวงเงินรวมของโครงการรวมที่ 179,412.21 ล้านบาท

โดยกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1.การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า โรงเชื่อมรางและกองเก็บและโรงกองเก็บราง จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ

2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่าเป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท

3. การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ–สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทางรวม2,227.57 ล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท

โดยกำหนดจะมีการลงนามร่วมกันวันที่ 29. ต.ค. 2563 นี้ มีงาน 3 ช่วง คือ 1. ออกแบบระบบ และออกแบบระบบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟความเร็วสูง 2.งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3.งานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบ ระยะเวลา 64 เดือน

ตั้งบ.ลูกบริหาทรัพย์สินรฟท. คาด30 ปีมีรายได้ล้างหนี้


นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของรฟท. โดยใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยให้รฟท.กู้เงินมาเป็นทุนจดทะเบียน มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน

โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า รฟท..มีความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกด้านทรัพย์สิน เนื่องจาก รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถจำนวน 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ เพราะการบริหารสินทรัพย์ไม่ใช่กิจกรรมหลัก จึงไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามแผนในระยะ 3 ปี จะมีรายได้ 631,628 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินในปัจจุบันรวม (31 ธ.ค. 62) 177,611 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น