xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นไฮสปีดรวด5สัญญา4.02หมื่นล. รฟท.จี้“ซีพี”เร่งช่วงทับซ้อนดอนเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รฟท. เซ็นรับเหมา 5 สัญญาก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีน วงเงินกว่า 4.02 หมื่นล้าน ระยะทางกว่า 101 กม. คาดเคลียร์พื้นที่ออก NTP เริ่มสร้างได้ต้นปี 64 “ปลัดคมนาคม”เร่งสรุปรูปแบบบริษัทเดินรถกลางปี 64

วานนี้ (26 พ.ย.) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรม และลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วง กรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับผู้รับจ้าง จำนวน 5 สัญญาว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา แบ่งการก่อสร้างงานโยธา เป็น 14 สัญญา โดยขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สัญญา โดยการลงนาม 5 สัญญานี้ มีระยะทางรวม 101.15 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 40,275.33 ล้านบาท ทั้งนี้ รฟท.ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ส่วนที่เหลืออีก 7 สัญญา รฟท.จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนงาน ส่วนปัญหาอุปสรรคยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และยังมีเป้าหมายเปิดให้บริการปี 2568

นายชยธรรม์ กล่าวถึงการเดินรถว่า ตามมติ ครม. วันที่ 11 ก.ค.60 ให้มีการตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของรฟท. เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เป็นผู้เดินรถ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และคาดว่าจะสรุปได้ กลางปี 64 ซึ่งหลักการ รฟท.เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โครงสร้าง โดยอาจจะต้องแปลงเป็นทุนเพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเดินรถ

นายชยธรรม์ ยังได้กล่าวถึง สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า โดยหลักการจะให้ทางกลุ่มซีพีฯ เป็นผู้ก่อสร้าง แต่หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายในต้นปี 64 ทาง รฟท.อาจจะก่อสร้างเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการแบ่งแยกเนื้องาน รวมถึงรอกลุ่มซีพีฯ ยืนยันความชัดเจน

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวเสริมว่า คาดว่าจะสามารถ ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP)เพื่อส่งมอบพื้นที่ งานโยธาทั้ง 5 สัญญา ได้ช่วงต้นปี 64 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างรอออกประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในจุดที่มีการเวนคืนเพิ่มและแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าไม้ ทั้งนี้กรณีสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,330 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปผลประมูล เนื่องจากมีการอุทธรณ์การพิจารณาผล ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตามที่บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ถือเป็นที่สุด คาดว่าจะเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมบอร์ด รฟท.ได้ในเดือน ธ.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น