ทอท.ปรับแผนเร่งซ่อมผิวรันเวย์-แท็กซี่เวย์ “สุวรรณภูมิ” วงเงิน 4.7 พันล้าน จาก 6 ปี เหลือ 2 ปี “ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งทำช่วงโควิด มีเที่ยวบินน้อย “นิตินัย” เผยสภาพคล่องเหลือแค่ 4 หมื่นล้าน ปี 64 ขาดทุนแน่นอน จ่อกู้ระยะสั้นเสริม ส่วนดอนเมืองเฟส 3 หากต้องทำ EIA ใหม่กระทบแผนล่าช้า 2 ปี
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า จากที่ ทอท.มีโครงการซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานที่เป็นชนิดแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เป็นพื้นผิวทางซีเมนต์คอนกรีตซึ่งมีความคงทนแข็งแรงมากกว่า โดยจะปรับปรุงบริเวณทางขับ (แท็กซี่เวย์) และหลุมจอด (แท็กซี่เลน) เป็นหลัก รวมพื้นที่ประมาณ 7.7 แสน ตร.ม. โดยแบ่งดำเนินการเป็น 4 เฟสนั้น ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ ทอท.เร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้สนามบินสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินน้อยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เบื้องต้นได้ชี้แจงถึงอุปสรรคในการดำเนินงานว่าเป็นเรื่องปัญหา Slot เที่ยวบิน ซึ่งในระบบการบินยังมีการประกาศ Slot ค้างอยู่ แม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนในการบิน เพราะมีการยกเลิกตลอดเวลา แต่การปิดรันเวย์ หรือแท็กซี่เวย์ เพื่อบูรณะซ่อมแซมยังคงต้องยึดตาม Slot ที่มีการจองไว้
รมว.คมนาคมรับทราบข้อปัญหาและข้อจำกัด โดยจะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และสายการบิน เพื่อปรับประกาศ Slot ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
ล่าสุด ทอท.ได้ปรับกรอบดำเนินการซ่อมแซมแท็กซี่เวย์ และหลุมจอด พื้นที่กว่า 7.7 แสนตารางเมตร จากเดิมมี 4 ระยะ ดำเนินการ 6 ปี เหลือ 2 ระยะ ดำเนินการใน 2 ปี (ปี 64-66) ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงทีโออาร์งานเฟสแรก พื้นที่ประมาณ 30% เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการพัสดุ ทอท. และเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.อนุมัติในเดือน พ.ย. เปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2563 ได้ตัวผู้รับจ้างเริ่มงานในเดือน พ.ค. 2564 แล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2565 ส่วนเฟส 2 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 70% จะประมูลในปี 2564 และเริ่มงานในช่วง มี.ค. 2565 แล้วเสร็จ มิ.ย. 2566
@ปี 64 ขาดทุนแน่ สภาพคล่องเหลือแค่ 4 หมื่นล้าน ยันไม่ชะลอลงทุน
นายนิตินัยกล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด ซึ่งยังมีการแพร่ระบาดและยังไม่มีวัคซีนออกมา ซึ่งประเมินว่าในปี 2564 ผลประกอบการของ ทอท.จะขาดทุนอย่างแน่นอน และหากกลางปี 2564 ยังไม่มีวัคซีนออกมา ทอท.จำเป็นจะต้องกู้เงินรูปแบบเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องช่วงท้ายปี เนื่องจากปัจจุบัน ทอท.มีสภาพคล่องเหลือประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท จากที่เคยมีสภาพคล่องสูงสุด 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะบริหารการใช้จ่ายและการลงทุนไปได้ทั้งปี ภายใต้เงื่อนไขมีวัคซีนโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2564
สำหรับในปี 2564 ประมาณการค่าใช้จ่ายรวมไว้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะพอดีกับสภาพคล่องที่เหลือ ดังนั้น ตอนนี้ต้องดูว่าวัคซีนจะมีเมื่อไร เพราะคาดว่าจะสามารถฉีด หรือป้องกันได้ครอบคลุมประมาณ 4 เดือน ทำให้ ทอท.สามารถวางแผนด้านการเงินและแผนการกู้เงินได้ ขณะที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 8-9 หมื่นคน/วัน ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งมีรายได้จากค่า PSC คนละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนรายได้จากค่าเช่าพื้นที่และรายได้เชิงพาณิชย์ต่างๆ ยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
@ดอนเมืองเฟส 3 ติดหล่มทำ EIA ใหม่ แผนช้าอีก 2 ปี
สำหรับโครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ระยะที่ 3 ซึ่งล่าสุด กพท.สรุปให้ ทอท.ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) นายนิตินัยกล่าวว่า ยังเป็นการมองคนละมุม ในประเด็นการคำนวณตามสูตรของ Design Capacity ซึ่ง ทอท.เห็นว่าเป็นการฟื้นฟูสภาพการให้บริการของสนามบิน ซึ่ง EIA เดิมมีการออกแบบการรองรับผู้โดยสารที่ 40 ล้านคน/ปี ที่ผ่านมามีการออกแบบและใช้งานที่ 30 ล้านคน/ปี การพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการออกแบบปรับปรุงเพื่อให้บริการได้ที่ 40 ล้านคน/ปี ซึ่งไม่เกินจาก EIA เดิม โดยถือเป็นการฟื้นฟูสภาพ จึงไม่ต้องศึกษา EIA ใหม่
ในขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นว่า ผู้โดยสารจริงมากกว่า 40 ล้านคน/ปี ซึ่งเกินจากที่ออกแบบใน EIA เดิม โดยล่าสุด ทอท.ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลและเหตุผล ในส่วนของทอท.ไปยัง กพท.อีกครั้ง อยู่ที่ กพท.จะพิจารณา หากสรุปให้ ทอท.ต้องเสนอ EIA การศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี