สุวรรณภูมิเจอพิษโควิดฉุดผู้โดยสารปี 63 รอบ 11 เดือนเหลือ 30 ล้านคน ลดลงเกือบ 50% เผยเปิดบริการครบ 14 ปี ให้บริการผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 685 ล้านคน มี 4 ล้านเที่ยวบินขึ้น-ลง และสินค้า 17.5 ล้านตัน
น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (ทอท.) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการครบ 14 ปี ในปีนี้ โดยมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น กว่า 685 ล้านคน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งหมด 17.5 ล้านตัน ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งหมด 4 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งในปี 2563 ทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนธุรกิจการบินทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้โดยสาร เที่ยวบิน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 - ส.ค. 2563 (รวม 11 เดือน) สนามบินสุวรรณภูมิมีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 111 สายการบิน โดยมีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวมทั้งสิ้น 201,456 เที่ยวบิน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 42.18% มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 30.10 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 49.81% และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 1 ล้านตัน ลดลง 22.68% ซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารในปีนี้ส่วนหนึ่งจะรวมเที่ยวบินพิเศษขาเข้าระหว่างประเทศภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลแล้วด้วย โดยตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย. - 8 ก.ย. 63 มีจำนวน 436 เที่ยวบิน ผู้โดยสารทั้งหมด 52,611 คน แบ่งเป็นคนไทย 43,713 คน ชาวต่างชาติจำนวน 8,898 คน
ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถทั้งในด้านการสนับสนุนภารกิจการคัดกรองผู้โดยสารที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามายังประเทศไทย ตลอดจนประสานงานเรื่องการส่งต่อผู้โดยสารเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก โดยการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในช่วงการแพร่ระบาดฯ นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ตั้งจุดคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการภายในอาคารท่าอากาศยาน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย และผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ จัดพื้นที่พักคอย และจุดยืนรอรับบริการตามสถานที่ต่างๆ โดยเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร พร้อมจัดทำป้ายสัญลักษณ์ เครื่องหมายบนพื้น รวมทั้งการประกาศผ่านระบบเสียงประชาสัมพันธ์ตลอดเวลา
มีการเพิ่มรอบความถี่ในการทำความสะอาดทุกพื้นที่แบบ Deep Cleaning อย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นการใช้น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อสูตรของสถาบันบำราศนราดูร เช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่จุดสัมผัสต่างๆ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตามภารกิจหน้าที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการผู้โดยสารในด้านต่างๆ เช่น การนำรถเวียน (Shuttle Bus) ใหม่มาปรับเปลี่ยนทดแทนของเดิมจำนวน 14 คัน ซึ่งรถรุ่นใหม่นี้มีแพลตฟอร์มพิเศษรองรับการขึ้น-ลงของรถเข็นสำหรับคนพิการด้วย การปรับเปลี่ยนตู้ KIOS รถรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) ใหม่ทั้งหมดให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงลานจอดรถโซน 6 และ 7 โดยมีการก่อสร้างหลังคาคลุมทุกช่องจอด เป็นต้น
และที่ผ่านมา ยังได้มีการปรับปรุง ซ่อมบำรุงอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน เช่น การซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดทั้งในส่วนระบบลิฟต์ ทางลาดเลื่อน ระบบไฟฟ้า-แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบท่อสุขภัณฑ์ ห้องสุขา รวมทั้งยังได้มีการเปลี่ยนพื้นกระเบื้องที่ชำรุดบริเวณต่างๆ เป็นต้น สำหรับในส่วนทางวิ่ง ทางขับ ทสภ. ได้มีการตรวจสอบความแข็งแรงของพื้นผิว และอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพื้นที่เขตการบินให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งได้มีการซ่อมบำรุง และเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบไฟนำร่องเข้าจอดที่หลุมจอด (Visual Docking Guidance System (VDGS)) และระบบไฟฟ้า-แสงสว่างด้วย
สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น ได้มีการสนับสนุนนโยบายการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตรให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรไทย โดยในระยะแรกจะจัดตั้งโครงการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane (PPL)) ก่อนการดำเนินโครงการศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Preshipment Inspection Center) ต่อไปในอนาคต โดยโครงการ PPL เป็นการให้บริการเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออก เปรียบเสมือนการให้บริการชั้นธุรกิจ (Business Class) สำหรับผู้โดยสาร
โดยสินค้าที่ใช้บริการในโครงการ PPL จะได้รับการดูแลและจัดเตรียมขึ้นเครื่องโดยผู้ชำนาญในการจัดเตรียมสินค้าทางอากาศโดยเฉพาะ ทั้งนี้ โครงการ PPL ดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด และบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ให้ความร่วมมือส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าการเกษตรของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของอาเซียน