กพท.นัด 16 ก.ย.ถกข้อมูล EIA ขยายดอนเมืองเฟส 3 คาดไม่ต้องทำใหม่ หลัง ทอท.ยันเที่ยวบินไม่เกิน 60 เที่ยวบิน/ชม. รับที่ 40 ล้านคน ไม่กระทบสาระสำคัญ พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม หวั่นโควิดอยู่ยาว อาจต้องทบทวนผังการใช้พื้นที่ใหม่ และเลื่อนลงทุนให้เหมาะสมกับฐานะการเงิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. เปิดเผยว่า จากที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ให้รองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่ง กพท.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาโดยมีผู้แทนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ร่วมด้วย โดยในวันที่ 16 ก.ย.นี้คณะทำงานฯ จะมีการประชุม และให้ ทอท.ชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้คณะทำงานฯ กพท.ได้เคยมีการพิจารณาเบื้องต้นในประเด็นการพัฒนาขยายสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายงาน EIA เดิมหรือไม่ โดยพิจารณาจากตัวเลขที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ทอท.ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามรายงาน EIA เดิมสามารถรองรับเที่ยวบินสูงสุดในชั่วโมงคับคั่งได้ 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งอยู่ในแผนดอนเมืองเฟส 3 โดยจะไม่ทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงรายงาน EIA เดิม
ทั้งนี้ หากข้อมูลของ ทอท. ยืนยันได้ว่าการขยายดอนเมืองเฟส 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต่อกรอบ EIA เดิม รวมถึง ทอท.จะต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะสามารถสรุปผลการพิจารณาเรื่อง EIA ได้ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ มีแนวโน้มว่า ทอท.ไม่ต้องรายงาน EIA ใหม่ โดย กพท.จะรายงานผลการพิจารณาต่อ สผ.รับทราบ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาและเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
“คณะทำงานฯ กพท.จะพิจารณาด้านเทคนิค ขอบเขตการขยายสนามบินดอนเมือง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ และยังอยู่ภายใต้สมมติฐานของรายงาน EIA ฉบับเดิมที่เคยได้รับอนุมัติหรือไม่ โดยจะมีผู้แทนจาก สผ.ร่วมพิจารณาด้วย หลักการจะดูตัวเลขปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสาร เพราะเป็นปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อส่งแวดล้อม”
แหล่งข่าวจาก ทอท.เปิดเผยว่า การพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 เป็นการลดความแออัด และเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสาร ไม่มีการขยายรันเวย์ จึงอยู่ในขอบเขต EIA เดิม ทั้งนี้ ตามแผนดอนเมืองเฟส 3 มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเปิดบินระหว่างประเทศทำไม่ได้ ขณะที่สนามบินจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น จัดเพิ่มพื้นที่บริเวณผู้โดยสารขาเข้า สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และโถงและที่นั่งพักรอสำหรับผู้โดยสาร เพื่อรองรับกระบวนการคัดกรอง และการตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ จากเดิมที่ขาเข้าจะใช้พื้นที่น้อยมาก
ดังนั้น ทอท.อาจจำเป็นจะต้องปรับปรุงแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 เพื่อกำหนดการใช้พื้นที่ใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่คาดว่าโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่ไปอีกนาน รวมถึงควรพิจารณา ปรับเลื่อนแผนการลงทุนออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นจริงๆ ซึ่งจากการประเมินคาดว่าในปี 2564 ปริมาณการเดินทางจะยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และสถานะการเงินของ ทอท.แน่นอน
จากข้อมูลพบว่า หลังเกิดโควิด-19 จำนวนผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองลดลงไปอย่างมาก โดยหลังมีประกาศผ่อนปรนให้สามารถเดินทางภายในประเทศได้ ผู้โดยสารค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 5,000 คน/วัน จนล่าสุดช่วงวันหยุดชดเชยสงกรานต์ วันที่ 4-7 ก.ย. มีผู้โดยสารเฉลี่ย 55,000 คน/วัน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโควิดที่มีผู้โดยสารรวมกว่า 1.2 แสนคน/วัน แบ่งเป็น ภายในประเทศ 70,000 คน/วัน ระหว่างประเทศ 50,000 คน/วัน และหากเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 สถานการณ์วัคซีนยังไม่ชัดเจน เชื่อว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะยังไม่กลับมา
สำหรับแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 38,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2568 โดย ทอท.จะใช้เงินรายได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เช่น อาคารผู้โดยสาร และให้เอกชนร่วมลงทุน PPP กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ที่จอดรถ
โดยมีการก่อสร้างสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก) เริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จปี 2566, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2, โครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING, ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เคยกล่าวยืนยันว่า ทอท.จะไม่ชะลอแผนการลงทุนขยายสนามบินแม้โควิดระบาด เนื่องจากตามแผนการขยายจะเสร็จปี 65 ซึ่งเชื่อว่าจะพอดีกับที่สถานการณ์เดินทางและจำนวนผู้โดยสารกลับสู่ปกติ หากไม่เร่งลงทุนไว้รอจะไม่ทันเวลา