กทท.เซ็นสัญญา “กิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี” ของกลุ่มพริมา มารีน วงเงิน 2.13 หมื่นล้าน ลุยงานที่ 1 (ทางทะเล) แหลมฉบังเฟส 3 ส่วนงานที่ 2 สร้างท่าเรือและถนน 6.5 พันล้าน เตรียมประกาศทีโออาร์ใหม่เร็วๆ นี้
รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา กทท.ได้ลงนามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล กับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาทแล้ว ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กทท.กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะหารือกับบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับเหมาเพื่อจัดทำแผนการส่งมอบพื้นที่ และออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาราว 4 ปี
สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น กทท.จะดำเนินการเอง โดยมีงาน 4 ส่วน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล กรอบวงเงิน 22,000 ล้านบาท ลงนามสัญญาแล้ว
2. งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 6,502 ล้านบาท ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างเตรียมประกาศร่างทีโออาร์ใหม่ หลังจากที่ต้องยกเลิกประกาศก่อนหน้านี้ไปเนื่องจาก เอกสารประกาศไม่ครบถ้วน ซึ่งจะมีการทำราคากลางใหม่เพื่อให้เป็นปัจจุบัน โดยมีขอบเขตของงานก่อสร้าง ได้แก่ งานระบบถนน งานอาคาร งานท่าเรือชายฝั่ง และงานท่าเรือบริการ
งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภควงเงิน 6,502 ล้านบาท
ส่วนงานที่ 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 600 ล้านบาท และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปี 2564
สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F นั้น คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้สรุปผลและการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงิน (ซองที่ 4) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี) พิจารณาต่อไป
จากผลตอบแทนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอยู่ที่ 32,225 ล้านบาท (ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี) ขณะที่เอกชนยื่นเสนอผลตอบแทนที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท (NPV) ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจากับเอกชนเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดราว 28,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ ซึ่งต้องขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ดอีอีซี