กสท โทรคมนาคม เดินหน้าโครงการเคเบิลใต้น้ำ หลัง ครม.อนุมัติปรับแผนและขยายระยะเวลาโครงการ หลังได้รับผลกระทบด้านการดำเนินงาน ชี้ยังอยู่ในกรอบงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ดันไทยเป็นฮับในอาเซียน
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับแผนและงบประมาณในการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เคเบิลใต้น้ำ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นฮับในอาเซียน 2 กิจกรรม จากทั้งหมด 3 กิจกรรม งบประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น กสท โทรคมนาคมจะเร่งดำเนินการทันทีภายใต้กรอบงบประมาณเดิม
สำหรับโครงการดังกล่าวดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2559 งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 งบประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นการขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps
กิจกรรมย่อยที่ 2 งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นการขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีปัญหา
และกิจกรรมย่อยที่ 3 เป็นการลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ขอขยายระยะเวลาออกไปถึงปี 2565 จากเดิมที่จะเสร็จภายในปี 2564
ทั้งนี้ 2 กิจกรรมย่อยที่ ครม.อนุมัติให้ปรับแผนและงบประมาณ ประกอบด้วย กิจกรรมย่อยที่ 1.การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำให้ระบบเคเบิลใต้น้ำระบบเพชรบุรี-ศรีราชา หรือ Phetchaburi-Sriracha (PS) ไม่สามารถใช้งานได้ตามแผนที่ได้ออกแบบไว้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงข่ายด้วยการสร้างเส้นทางใหม่รองรับ ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม 126 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในงบประมาณของโครงการทั้งหมด 5,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณไม่ถึงกรอบวงเงินที่กำหนดตั้งแต่แรก คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน
และกิจกรรมย่อยที่ 3 คือ การร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ Asia Direct Cable (ADC) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงจร 200 Gbps มีการลงนามในข้อตกลง Asia Direct Cable ( ADC) โดยเงื่อนไขการดำเนินงานภายหลังลงนามจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 32 เดือน และ กสท โทรคมนาคม จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการตรวจรับอีกประมาณ 2 เดือน ทำให้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการถึงปีงบประมาณ 2565