กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผย “ผลิตภัณฑ์จากข้าว” มีความต้องการเพิ่ม ยอดส่งออก 6 เดือนโต 9.5% ระบุประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยขยายตัวได้ดี เหตุมีแต้มต่อไม่ต้องเสียภาษี ดันอาเซียนขึ้นแท่นแชมป์ตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมถึงขนมขบเคี้ยว เป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่น่าจับตามอง เพราะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ และผู้ประกอบการมีความพร้อม มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้า ทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และมีความต้องการเพิ่มขึ้น จากการต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน และกระแสการรักสุขภาพที่ทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเพิ่มมากขึ้น
โดยผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวในช่วง 6 เดือนปี 256.3 (ม.ค.-มิ.ย.) มีปริมาณ 1.12 แสนตัน มูลค่า 176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% แบ่งเป็นการส่งออกแป้งข้าวเหนียว มูลค่า 58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 22% เส้นก๋วยเตี๋ยว มูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11% และขนมขบเคี้ยว มูลค่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.5%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ อาเซียนได้เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับ 1 ของไทย มูลค่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10% โดยมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 32% ตามด้วยสหรัฐฯ มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5% จีน มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 17% ญี่ปุ่น มูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 36% และออสเตรเลีย มูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33%
นางอรมนกล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวได้ประโยชน์จากการที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทำให้มีแต้มต่อด้านราคา เพราะสินค้าของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยปัจจุบันมีคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว ส่วนประเทศคู่เอฟทีเออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ลด เลิก การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยบางส่วน และคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า 5-40% ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า 25% อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าว และเส้นหมี่จากข้าว 30% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความได้เปรียบจากการมีเอฟทีเอแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ต้องการของตลาดต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวปริมาณกว่า 2.27 แสนตัน มูลค่า 338 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.2% และเพิ่มขึ้นกว่า 187% เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 หากแยกเป็นรายประเทศ อาเซียน เพิ่ม 210% จีน เพิ่ม 1,862% ออสเตรเลีย เพิ่ม 148% นิวซีแลนด์ เพิ่ม 304% เป็นต้น และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มูลค่า 217 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการส่งออกทั้งหมด