xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เผยเอฟทีเอมีส่วนช่วยดันส่งออก “มังคุด” 5 เดือนพุ่ง 16%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยการส่งออก “มังคุด” 5 เดือนปี 63 เพิ่มขึ้น 16% ชี้ตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยโตแรง จีนนำโด่งอันดับหนึ่ง ตามด้วยอาเซียน และฮ่องกง แนะเกษตรกร ผู้ประกอบการรักษาคุณภาพ ผลิตผลไม้ปลอดสารพิษ ป้อนความต้องการของตลาด และห้ามลืมใช้เอฟทีเอในการส่งออกเพื่อสร้างความได้เปรียบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออก “มังคุด” หรือราชินีแห่งผลไม้ไทย ในช่วง 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 290 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% โดยตลาดจีน อาเซียน และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 99% ของการส่งออกทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออกไปจีนมูลค่า 213 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19% อาเซียน มูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4% โดยมีเวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาด 94% ของการส่งออกไปอาเซียนทั้งหมด และฮ่องกง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 171% ซึ่งทั้ง 3 ตลาดเป็นตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วยทั้งหมด

“เอฟทีเอเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกมังคุดเพิ่มขึ้น โดยจากการตรวจสอบประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอของไทยมี 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้า ได้แก่ เกาหลีใต้ เก็บ 24% กัมพูชา มาเลเซีย และ สปป.ลาว เก็บ 5%” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้บริโภคได้หันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการรักษามาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่นิยมผลไม้ปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งต้องพัฒนาตราสินค้าเป็นของตนเอง สร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น เพื่อให้สามารถครองใจผู้บริโภคได้ และหากจะส่งออก ควรจะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการสร้างความได้เปรียบในการส่งออกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นถึง 53,468% โดยเฉพาะจีนเพิ่ม 125,504% เมื่อเทียบกับปี 2545 อาเซียนเพิ่ม 100% เมื่อเทียบกับปี 2535 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติในปี 2562 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และส่งผลให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกมังคุดของโลกในปีเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น