กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าผลักดันแหล่งผลิตสินค้า GI เป็นสถานที่ท่องเที่ยว นำร่องก่อน 10 สินค้า เตรียมจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว ดึงคนเข้าไปเที่ยวชม สัมผัสวิถีชีวิต และเลือกซื้อสินค้าถึงแหล่งผลิต พร้อมอบรมคนในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์ GI ช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เผยยังมีแผนร่วมมือกับ “เกษตร” ช่วยรับรองสินค้า GI ตามยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะเดินหน้าผลักดันให้แหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพราะแหล่งผลิตสินค้า GI สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร โดยมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีอากาศที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน มีโอกาสได้สัมผัสชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และสามารถหาซื้อสินค้า GI ได้ถึงแหล่งผลิต
“อยากจะทำเส้นทางสินค้า GI ถ้าไปจังหวัดนี้จะไปดูแหล่งผลิตสินค้า GI ได้ที่ไหน และถ้าอยากจะไปท่องเที่ยวต่อในจังหวัด มีสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำอะไรบ้าง อยากจะซื้อสินค้าท้องถิ่น ซื้อสินค้าชุมชน มีขายอยู่ตรงไหน ซึ่งข้อมูลตรงนี้กระทรวงพาณิชย์มีอยู่แล้ว และอยากจะทำถึงขั้นที่ว่า ไปแล้วจะพักที่ไหน กินอะไร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายแหล่งผลิตสินค้า GI รวม 10 สินค้า ที่น่าจะผลักดันออกมาได้ก่อน”
สำหรับแหล่งผลิตสินค้า GI ที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ 1. ผ้าไหมปักธงชัย (จังหวัดนครราชสีมา) 2. มังคุดคีรีวง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) 3. ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง (จังหวัดศรีสะเกษ) 4. ทุเรียนในวงระนอง (จังหวัดระนอง) 5.ศิลาดลเชียงใหม่ (จังหวัดเชียงใหม่) 6.ส้มโอนครชัยศรี (จังหวัดนครปฐม) 7. ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี (จังหวัดอุทัยธานี) 8. น้ำตาลโตนดเมืองเพชร และขนมหม้อแกงเมืองเพชร (เพชรบุรี) 9. ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง (จังหวัดพัทลุง) และ 10. สับปะรดตราดสีทอง (ตราด)
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนเข้าไปช่วยฝึกอบรมเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า GI ให้เป็นมัคคุเทศก์ GI ประจำจังหวัด เพื่อช่วยดูแล แนะนำ ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปยังแหล่งผลิต และคอยประกบนักท่องเที่ยวเวลาเข้าไปเที่ยว เช่น การพาไปชมสวน กรณีเป็นพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ หรือพาไปชมขั้นตอนการผลิตสินค้า เช่น การทำผ้าไหม การผลิตขนม การทำเครื่องปั้นดินเผา หรือช่วยแนะนำกรณีมีการเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำสินค้า
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า GI โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีการตรวจสอบการผลิตเพื่อมอบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ให้กับสินค้าเกษตรอยู่แล้ว ก็จะขอความร่วมมือให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานสินค้า GI เพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งอาจจะเพิ่มจากที่ตรวจปกติไม่มาก ถือเป็นความร่วมมือกัน และหากผ่านการตรวจสอบแล้วก็จะออกตรารับรองมาตรฐานสินค้า GI ให้
ปัจจุบันตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ มีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้วจำนวน 143 สินค้า เป็นสินค้า GI ไทยจำนวน 126 รายการ และสินค้า GI ต่างประเทศ จำนวน 17 รายการ